กรุงเทพฯ 13 ก.ย. – โบรกเกอร์เชียร์ชะลอจ่ายเงินดิจิทัลฯ 10,000 บาท เฟส 2 การทยอยจ่ายจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจทำให้ ธปท.คลายกังวลเงินเฟ้อ และจะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งดอกเบี้ยทุก 0.25% ที่ลดลงจะหนุน SET ราว 40-50 จุด
จากกรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ชี้แจงต่อรัฐสภา วานนี้ (12 ก.ย.) ว่า วันที่ 25 ก.ย.นี้ จะโอนเงินก้อนแรก ในงบฯ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.2 ล้านคนได้ ด้วยงบปี67 วงเงิน 1.42 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือผู้ที่ลงทะเบียนกว่า 30 ล้านคน ยืนยันว่าจะเดินหน้า แต่มีงบจำกัดต้องให้ความสำคัญกับงบกลาง ปรับปรุงโครงสร้างจุดอ่อนแอของประเทศก่อน หากมีวงเงินเหลือจะจัดให้ตรงนี้ ภาพรวมเรื่องนี้ต้องมีความยืดหยุ่นของแผนสถานการณ์เปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนสำหรับโครงการในเฟสต่อไป
นายกรภัทร วรเชษฐ์ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) มองว่านับว่ามีความชัดเจนมากขึ้นเรื่องดิจิทัลฯ ในการแจกเงินกลุ่มเปราะบางก็จะกระตุ้นการบริโภค ในขณะที่เฟสที่ 2 แม้มีแนวโน้มสลับไปใช้ปรับโครงสร้างประเทศก่อน แต่โดยรวมลดความกังวลเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เกิดจากนโยบายอัดฉีดเงิน น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิยน (กนง.) ซึ่งทุก 0.25% ที่ลดลง จะหนุนตลาดราว 40-50 จุด ทำให้ภาพวงจรดอกเบี้ยขาลงวันนี้เป็นประเด็น และเป็นประเด็นขับเคลื่อนสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงหนุนดัชนี SET แกว่งขึ้นได้ โดยมีหุ้นนำ ธีมหลักวันนี้ คือ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งค่าและดอกเบี้ยขาลง เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า
“กรณีเงินดิจิทัลฯ เฟส 2 แม้ผิดไปจากความคาดหวังจากเดิม ที่คาดว่าจะจ่ายต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี แต่เรามองเป็นกลาง หรือ จิตวิทยาลบเล็กๆ ต่อกลุ่มค้าปลีกเท่านั้น เนื่องจากอาจเพิ่มโอกาสที่ ธปท. พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง จากความเสี่ยงเงินเฟ้อกลับมาขยับขึ้นเร็ว จากผลกระทบนโยบายดังกล่าวที่ ธปท.กังวลจะจำกัดขึ้น เชิงกลยุทธ์ หากหุ้นอ่อนตัวลงมา เรามองเป็นโอกาสทยอยสะสม รับภาพเศรษฐกิจภายในกำลังฟื้นตัวเร่งขึ้นนับจาก ไตรมาส 3/67 รวมถึงโอกาสที่เม็ดเงินใหม่จาก Thai ESG และกองทุนวายุภักษ์เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยช่วงไตรมาส 4/67” นายกรภัทร กล่าว
นายณัฐพล คำถาเครือ ผอ.ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการนโยบายรัฐจะชะลอดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 และนำเงินไปใช้ด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศหรือไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม จากนั้นจึงจะนำมาใช้กระตุ้นการบริโภคต่อไปนั้นเป็นแนวทางที่ดีเพราะจะได้ไม่เป็นภาระทางการคลังมากเกินไป ทั้งนี้การที่มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจก้อนใหญ่ ข้อดีคือกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่ข้อเสียคือ เมื่อเงินหมดเศรษฐกิจจะชะลอรวดเร็วในไตรมาสถัดไป เมื่อหักล้างกัน รวม 2 ไตรมาส เศรษฐกิจอาจไม่โตแรงมาก แต่ถ้าเป็นการทยอยใส่เงินเข้ามาในระบบจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปได้มากขึ้น. -511-สำนักข่าวไทย