กรุงเทพฯ 3 ก.ย. – บอร์ด กกพ.หวังนำเงินประกันไฟฟ้าภาคธุรกิจ 5.7 หมื่นล้าน คืนเอกชน หารือร่วม กฟน.-กฟภ.แต่ยังไม่จบ เพราะหากคืนเงิน อาจเกิดปัญหาความเสี่ยงของภาครัฐในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้า
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ครั้งที่ 35/2567 (ครั้งที่ 920) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 มีมติให้สำนักงาน กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ร่วมกันศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อทบทวนและวางแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการวางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 กิจการขนาดกลาง ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ ประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง และอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การจำหน่ายกระแสไฟฟ้าของไทย มีรูปแบบเป็นการให้บริการไฟฟ้ากับผู้ใช้ไฟฟ้าก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินภายหลัง ดังนั้น จึงกำหนดให้มีการเรียกเก็บประกันการใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงของภาครัฐในกรณีที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟฟ้า ล่าสุดจากการประชุม ร่วมกัน มีความเห็นว่าข้อมูลที่ได้รับยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาเพื่อตัดสินใจ จึงจะร่วมกันศึกษาข้อมูลหรือ Profile ในเชิงลึกของธุรกิจต่างๆ ที่เป็นลูกค้าทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและความเสี่ยงของธุรกิจแต่ละประเภท และนำเสนอ กกพ. เพื่อประกอบการพิจารณามูลค่าหลักประกันการใช้ไฟฟ้าต่อไป
เบื้องต้นจากข้อมูลที่ได้รับจากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายพบว่า ปัจจุบัน กฟภ. มีหลักประกันการใช้ไฟฟ้าในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 , 4 และ 5 ทั้งในรูปแบบเงินสด พันธบัตร และหนังสือค้ำประกันโดยธนาคาร (Bank Guarantee) มีมูลค่ารวมกันประมาณ 44,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนเป็นพันธบัตร และ Bank Guarantee กว่า 77%
สำหรับ กฟน.มีเงินประกันการใช้ไฟฟ้าในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 , 4 และ 5 ประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยเป็นเงินสด ประมาณ 30% และที่เหลือเป็น Bank Guarantee โดย กฟน. และ กฟภ. ไม่ได้มีการใช้ประโยชน์จากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3 , 4 และ 5 โดยได้ฝากหลักประกันที่เป็นเงินสดไว้กับธนาคารเพื่อกันเงินดังกล่าวไว้เพื่อรอคืนและชำระคืนดอกเบี้ยให้แก่ผู้วางเงินประกันการใช้ไฟฟ้าเท่านั้น. -511-สำนักข่าวไทย