กรุงเทพฯ 30 เม.ย. – กกพ.ลดค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.68 ลง 17 สตางค์ เหลือหน่วยละ 3.98 บาท ใช้เงิน claw back อุ้ม 12,200 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้า ครม. 1 สตางค์
นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า ที่ประชุมกกพ. ครั้งที่ 16/2568 ในการประชุมวันที่ 30 เมษายน 2568 มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย โดยจากมติกกพ. เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่มีการตรึงค่าไฟไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยการพิจารณาค่าไฟงวดใหม่ (พฤษภาคม-สิงหาคม2568) ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่กำหนดกรอบเป้าหมายค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท ภายใน 45 วัน โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐบาลซึ่งกกพ.ได้พิจารณาค่าไฟงวดใหม่อยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย จากเป้าหมายรัฐบาล 3.99 บาทต่อหน่วย ลดลงกว่าเป้าหมาย 1 สตางค์ โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็นต้นไป
ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เคยแบกหนี้อยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลือเงินคงค้างประมาณ 71,000 ล้านบาท ดังนั้นการดูแลประชาชน ต้องดูแล กฟผ.ในการแบกรับหนี้ด้วย ถ้าไม่ได้รับการจ่ายหนี้จะมีผลกระทบเรตติ้งเครดิต กระทบทางด้านการเงิน สุดท้ายประชาชนก็ต้องจ่ายในอนาคตอยู่ดี และยังเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีผลตามมา

สำหรับการปรับลดค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยเป็นการปรับลดจากค่าไฟฟ้า 4.15 บาทต่อหน่วย โดยเรียกคืนของผลประโยชน์ส่วนเกิน หรือ claw back ประมาณ 12,200 ล้านบาท เกิดจากการพิจารณาการลงทุนของการไฟฟ้า มีการประเมินสถานการณ์ซึ่งอาจจะเกินไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงเหลือเงินส่วนดังกล่าวเก็บไว้ ตามกฎหมายระบุว่าเงินส่วนนี้ ตามมาตรา 34(2) หากมีเงินส่วนเกินและกกพ.ตรวจพบ สามารถนำเงินส่วนนี้ไปปรับลดค่าไฟในวงกว้างในกับประชาชนในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลมีความห่วงใยในสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตามในอดีตได้มีการนำเงิน claw back เข้ามาช่วยลดค่าไฟในช่วงเกิดสถานการณ์โควิด 19 ประมาณ 20,000 ล้านบาท
ส่วนการพิจารณาค่าไฟฟ้างวดปลายปี (กันยายน – ธันวาคม 68) กกพ.จะต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ต้องดูค่าเชื้อเพลิง ต้องดูการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกาด้วยซึ่งขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีการขึ้นหรือลดค่าไฟฟ้า
สำหรับกรณีไฟฟ้าดับที่สเปนและโปรตุเกสนั้น เลขาธิการ กกพ.ระบุว่า เกิดขึ้นจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันจาก 15 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นเป็น 30 องศาเซลเซียส ทำให้สายส่งแปรปรวนและที่สำคัญไทยเราพึ่งพาพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 40% จึงไม่มีปัญหา ส่วนที่สเปนและโปรตุเกสใช้พลังงานทดแทนจึงเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น. -513-สำนักข่าวไทย