กรุงเทพฯ 26 ส.ค. – สภาพัฒน์แนะลดเงินส่งกองทุนฟื้นฟูฯ นำเงินช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เสนอป้องกันภัยคุกคามทางเพศออนไลน์
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า จากแนวคิดการเสนอให้ลดนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน (FIDF) และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก จากปัจจุบัน ร้อยละ 0.46-0.47 ให้ลดลงครึ่งหนึ่ง เพื่อนำเงินไปช่วยลดหนี้ครัวเรือนให้กับประชาชน นั้น ต้องหารือกันระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท. จะทำให้การชำระเงินต้นลดลง มองว่าควรเป็นมาตรการเฉพาะกลุ่มแบบเจาะจง เช่น เป็นการช่วยลูกหนี้บ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท หรือหนี้รถผ่อนชำระเพื่อใช้ประกอบอาชีพ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหา “อันตรายบนศีลธรรม” (Moral Hazard) ในสังคมไทย
สำหรับปัญหาหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 หนี้สินครัวเรือน 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอลงจากร้อยละ 3 ในไตรมาสก่อน และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีร้อยละ 90.8 ลดลงจากร้อยละ 91.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากธนาคารเข้มงวดอนุมัติปล่อยกู้ หลังจากหนี้ NPLs ต่อสินเชื่อรวมไตรมาส 2 ปี 67 อยู่ที่ร้อยละ 8.5 สูงต่อเนื่อง และจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ความสามารถจ่ายหนี้บัตรเครดิตลดลง หนี้ NPL ของหนี้บัตรเครดิตปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนเพิ่มเป็นร้อยละ 4.13 ในไตรมาส 2
สภาพัฒน์ ยอมรับว่า สังคมไทยการขาดความรู้ถึงเรื่องสิทธิ์ของเด็กและผู้ปกครอง และการไม่ทราบช่องทางการช่วยเหลือ จากรายงานของ UNICEF ปี 2565 พบว่า เด็กและเยาวชน ร้อยละ 47 ไม่ทราบถึงช่องทางการช่วยเหลือ หากตนเองหรือเพื่อนถูกล่วงละเมิด/คุกคามทางเพศออนไลน์ บางส่วนมองว่าตนไม่ใช่ผู้เสียหาย รวมถึงเด็กและเยาวชนบางส่วนมีความรู้สึกอับอายไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล ส่งผลให้การแจ้งความดำเนินคดีที่น้อยกว่าความเป็นจริง จึงเสนอมาตรการป้องกัน และแก้ไขอย่างจริงจัง ได้แก่ 1) สร้างทัศนคติในการป้องกันการเพิกเฉยต่อการคุกคามทางเพศ โดยเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว ต้องสอดส่องดูแลพฤติกรรมการใช้สื่อ ในขณะที่ระดับชุมชนและภาครัฐจะต้องมีมาตรการในการลงโทษที่ชัดเจน 2) การให้ความรู้ด้านสิทธิและความเสี่ยงจากการถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ โดยสถาบันการศึกษา และชุมชน และ 3) สร้างความตระหนักรู้เท่าทันภัยคุกคามดิจิทัล เนื่องจากการคุกคามทางเพศเด็กออนไลน์มีรูปแบบใหม่และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น ครอบครัวควรให้ความรู้เกี่ยวกับการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ขณะที่สถานบันการศึกษาควรให้ความรู้เกี่ยวกับการล่อลวงทางเพศให้เป็นความรู้พื้นฐานหรือเป็นหลักสูตร.-515 -สำนักข่าวไทย