ม.หอการค้าไทย19 ส.ค. – หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดพิธีมอบรางวัลสุดยอดหน่วยงานรัฐด้านการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ รางวัล “สำเภา-นาวาทอง”ประจำปี 2567 เพื่อเป็นการให้กำลังใจและเชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ปรับปรุงกระบวนงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา มาเป็นประธานพิธีมอบรางวัล พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง“ประสิทธิภาพหน่วยงานภาครัฐ กับการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน” โดยมี 39 หน่วยงานภาครัฐ ได้รับรางวัลสำเภา-นาวาทอง และ 18 หน่วยงานภาครัฐได้รับใบประกาศเกียรติคุณ จัดขึ้น ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ดร.สุเมธ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงบัญญัติไว้ว่าเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเราปรับตัวไม่ทันจะโดน disruption ซึ่งที่ทรงเน้นย้ำ 3 ประการ เพื่อเตรียมรับมือ คือ 1) รู้เท่าทันโลกาภิวัฒน์ 2) การเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน 3) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลันในทุกด้าน ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนได้อย่างมีทิศทางต่อไป
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ กล่าวว่า หอการค้าฯ มอบรางวัลฯ เป็นครั้งที่ 3 จนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาได้มี ต่อยอดการผลักดันประสิทธิภาพการให้บริการ ร่วมกับ ก.พ.ร. และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐ นำร่อง 10 แห่งเชื่อมโยงข้อมูล ไม่เรียกเอกสาร ไม่เซ็นต์สำเนาลดขั้นตอน 392 กระบวนงาน ประหยัดกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี ผลของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากดัชนีความสามารถในการแข่งขันโลก (IMD World Competitiveness Ranking) ประจำปี 2567 ระบุว่าประเทศไทยสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันขึ้นมา 5 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 25 จากทั้งหมด 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งหน่วยงานที่ได้รับรางวัลในวันนี้ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจและประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการสนับสนุนการลงทุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ กล่าวว่า รางวัลสำเภา-นาวาทอง ได้มีการคัดเลือกหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในการปรับปรุงกระบวนงานและลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอย่างเห็นผล เป็นการสร้างความร่วมมือและเป็นกระบวนการในการแก้ไขและปรับปรุงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเชิดชูเกียรติและประชาสัมพันธ์หน่วยงานที่ได้รับรางวัล ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับรางวัลมีการประเมินผ่าน 3 มิติ สำคัญ ได้แก่ 1) ประสิทธิภาพของการบวนการ 2) การเปลี่ยนถ่ายการทำงานไปสู่ระบบดิจิทัล หรือ Digital Transformation และ 3) การวัดผลสัมฤทธิ์ โดยปี 2567 แบ่งรางวัลออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- รางวัลหน่วยงานระดับกระทรวง จำนวน 5 หน่วยงาน
- รางวัลหน่วยงานระดับกรม จำนวน 14 หน่วยงาน
- รางวัลหน่วยงานระดับกระบวนงาน จำนวน 6 หน่วยงาน
- รางวัลหน่วยงานระดับภูมิภาค จำนวน 14 หน่วยงาน. -512 – สำนักข่าวไทย