ทำเนียบ 23 ก.ค.- “พีระพันธุ์” เผย ครม.เห็นชอบตรึงราคาค่าไฟฟ้า 4.18 บาท ถึงสิ้นปี 67- คงน้ำมันดีเซล 33 บาท ถึง ต.ค.67 ระบุร่างกฎหมายแก้ไขพลังงานเสร็จแล้ว เตรียมส่งกฤษฎีกาตรวจสอบ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้า 4.18 บาทต่อหน่วย และยังขยายมาตรการต่อเนื่องในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน 3.99 บาทต่อหน่วย ในงวด ก.ย.-ธ.ค. รวม 4 เดือน เนื่องจากต้องปรับราคาให้เหมาะสมกับราคาค่าแก๊สในทุก 4 เดือน จึงจำเป็นต้องปรับค่าไฟทุก 4 เดือน ดังนั้นงวดค่าไฟต่อไปก็ยังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
นายพีระพันธุ์ ยืนยันว่ามีวิธีการทำให้ตรึงราคาค่าไฟอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยได้ และไม่มีใครเดือดร้อน และไม่ได้งบประมาณใดๆ และไม่ได้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) แบกรับค่าใช้จ่าย เป็นการได้เงินส่วนต่างจากการค่าไฟไปจ่าย ซึ่งจะจ่ายน้อยลง เนื่องจากค่าไฟ 4.18 บาท ทาง กฟผ.ได้รับเงินไปชำระหนี้อยู่แล้วจากส่วนดังกล่าว ซึ่งเคยคิดคำนวณมาแล้วและคิดเงินเต็มในงวดเดียวหมด แต่ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องจ่ายงวดเดียวหมด แต่จะจ่ายส่วนต่างให้ กฟผ. ตามงวดค่าไฟ ซึ่งเดิม กฟผ.คำนวณว่า ต้องใช้หนี้งวดเดียวหมด แต่การชำระหนี้ไม่จำเป็นต้องชำระครั้งเดียวหมด การจะชำระงวดเดียวหมดก็จะทำให้ประชาชนแบกหนี้ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องจ่ายครั้งเดียวหมด ให้ทยอยจ่ายเป็นงวดๆ ก็มีค่าเท่ากัน
นายพีระพันธุ์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.ยังตรึงค่าน้ำมันดีเซลไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ไปจนถึงเดือน ต.ค. 67 โดยใช้มาตรการทางกองทุนน้ำมันไปก่อน
ส่วนการดูแลกลุ่มน้ำมันเบนซิน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตนเองได้พูดมาเสมอว่า กลไกน้ำมันในบ้านเราตนเองก็ไม่พอใจ ซึ่งถูกปล่อยมานานและไม่คิดมีใครแก้ไข ซึ่งวันนี้ตนเองกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ซึ่งใกล้เสร็จแล้ว ดังนั้นต้องอยู่กับกฎหมายเดิมไปก่อน ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายเสร็จแล้ว หลังจากนั้นจะส่งคณะกรรมการกฎหมายตัวเองตรวจสอบอีกครั้ง และส่งให้กฤษฎีกาช่วยดู แต่ขณะนี้ต้นฉบับของกฎหมายร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะนำไปแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่ขึ้นลงทุกวันนี้ และไม่เคยรู้ว่าต้นทุนราคาเท่าไร
ส่วนกฎหมายที่กำลังทำจะไม่ทันกำหนดสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซล 31 ต.ค.นี้ จะทำอย่างไรนั้น นายพีระพันธุ์ ยอมรับว่าไม่ทัน หากใช้ระบบปกติก็ไม่ทัน เพราะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างน้อยก็มีกฎหมาย และหลังจากนี้จะบริหารจัดการโดยใช้กฎหมายเดิม แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงก็จะปรับระบบ
“ยืนยันว่า หลัง 31 ต.ค.นี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถแบกรับภาระได้อยู่ แต่วิธีการอาจต้องมาหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งระหว่างนี้ก็ยังใช้ระบบเดิม คือ ใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน ซึ่งขณะนี้หนี้กองทุนน้ำมันติดลบและเป็นหนี้กว่าแสนกว่าล้านบาท เนื่องจากกฎหมายเดิมที่ไม่อำนวยความสะดวก จึงจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย“ นายพีระพันธุ์ ระบุ
ส่วนจำเป็นหรือไม่ หลัง 31 ต.ค.67 จะใช้ภาษีสรรพสามิตมาช่วยผยุงราคาน้ำมัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ต้องหารืออีกครั้ง แต่ขณะนี้ก็ใช้ระบบเดิมไปก่อน ด้านกฎหมายใหม่จะมีการปรับสูตรน้ำมันหรือไม่ เห็นว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสถานการณ์ ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบัน ต้องมีการนำเอทานอลมาผสมกันถึงปี 2569
“เรื่องนี้ถือเป็นผลประโยชน์ของประชาชน และคงไม่มีใครมาขัดผลประโยชน์ของประชาชน และได้มีการพูดคุยกับกระทรวงการคลังแล้วและแจ้งให้ครม.รับทราบแล้วว่า ต้องมีกฏหมายใหม่” นายพีระพันธุ์ กล่าว. -316 สำนักข่าวไทย