นนทบุรี 19 ก.ค.- อธิบดีกรมการค้าภายในขานรับนายกรัฐมนตรี หาแนวทางยกระดับสินค้าเกษตร ดึงเอกชนร่วมใช้แนวคิดตัวใหญ่ช่วยตัวเล็ก ดูดซับผลผลิตส่วนเกินตั้งแต่ต้นฤดู เป้าหมาย 3 แสนตัน พร้อมติดตามดูแลสินค้าบริโภคและบริโภคทุกช่องทางเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าภายในดูแลพืชเกษตร ว่า นอกจากการดูแลพืชหลักที่กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมมาตรการดูแลอยู่แล้ว ก็ได้เพิ่มการดูแลพืชเกษตรอันดับรองๆ ด้วย กรมได้มีการประชุมหารือกับภาคเอกชนไปบ้างแล้ว จะใช้แนวคิดตัวใหญ่ช่วยตัวเล็ก ดูดซับผลผลิตส่วนเกินตั้งแต่ต้นฤดู เป้าหมาย 3 แสนตัน แยกเป็นกลุ่มผลไม้ประมาณ 2 แสนตัน อาทิ ลองกอง ส้ม สับปะรด กลุ่มพืชหัว อาทิ หอมแดง หอมหัวใหญ่ กระเทียม และกลุ่มผักสด อาทิ มะเขือเทศ พริก มะนาว
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้จะจัดแถลงเปิดตัว 10 กลุ่มธุรกิจ 20 เครือข่าย 18 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ โรงพยาบาล ผู้ผลิตและแปรรูปสินค้า ค้าส่งค้าปลีก ปั๊มน้ำมัน โรงงานอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ ส่วนรูปแบบมาหลากหลาย เริ่มตั้งแต่นำเข้าไปรับซื้อ เร่งกระจายทั้งการเป็นของสมนาคุณแจกลูกค้า ใช้ในการแปรรูป และผลักดันส่งออก
สำหรับราคาสินค้าในรอบสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่ทรงตัวในกลุ่มข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน เนื้อสัตว์ ส่วนที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผักสด จากภาวะอากาศที่เย็นลงและผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ผลไม้ที่ออกตลาดตอนนี้อยู่ในภาคใต้เป็นหลัก ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ยังมีราคาค่อนข้างสูงใกล้เคียงภาคตะวันออกที่ผลผลิตหมดแล้ว ภาคเหนือผลผลิตออกตลาดตอนนี้ คือ มะม่วง ลำไย สับปะรดภูเล ซึ่งเดือนสิงหาคมนี้ผลไม้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ มังคุด ลำไย และลองกอง ที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
ทั้งนี้ เท่าที่ติดตามสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ยืนยันดูแลค่าครองชีพมาตลอด กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่กำกับดูแลราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ และดูสมดุลทั้งผู้บริโภคไม่ให้เดือดร้อนจนเกินไป และผู้ประกอบการก็ต้องดูเป็นธรรมเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย ตอนนี้เราก็ขอความร่วมมือในการตรึงราคาสินค้า ซึ่งผู้ค้า ห้างเองก็มีการจัดโปรโมชั่นตลอด และไม่ดูแค่สินค้าและบริการควบคุม 57 รายการเท่านั้น สินค้านอกบัญชีควบคุมก็ดูแลตลอด ที่ผ่านมาได้ใช้หลายมาตรการในการดูแลตามสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม สินค้าและบริการควบคุม ที่มีอยู่จำนวน 57 รายการ กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาแล้วว่าเป็นสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการครองชีพ ประกอบด้วย 11 หมวด ได้แก่ 1.กระดาษและผลิตภัณฑ์ 2.บริภัณฑ์ขนส่ง 3.ปัจจัยทางการเกษตร 4.ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 5.ยารักษาโลกและเวชภัณฑ์ 6.วัสดุก่อสร้าง 7.สินค้าเกษตรสำคัญ 8.สินค้าอุปโภคบริโภค 9.อาหาร 10.อื่น ๆ 11.บริการ ส่วนสินค้ารายการอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในบัญชีควบคุม หากเห็นว่า มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งเรื่องสินค้าขาดแคลน หรือปรับขึ้นราคาเกินสมควร จะพิจารณานำเป็นสินค้าควบคุมและใช้มาตรการกำกับดูแลตามความเหมาะสม จนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย ก็ถอดจากบัญชีควบคุมเป็นต้น. -514-สำนักข่าวไทย