ก.คลัง 16 ก.ค. – ครม.มอบ ธ.ออมสิน ปล่อยกู้ช่วยรายย่อย เอสเอ็มอีกว่าแสนล้านบาท หวังลดต้นทุน ดึงเข้าแหล่งทุนในระบบ ดัน GDP เพิ่มร้อยละ 0.27
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ต้นทุนการผลิตและระดับราคาสินค้าทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กระทบค่าครองชีพของประชาชน ต้นทุนในการประกอบอาชีพปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กลุ่ม SMEs มีกำไรลดลงและประสบกับปัญหาด้านสภาพคล่องจากการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ
กระทรวงการคลังเล็งเห็นว่าหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทย ที่ประชุม ครม.จึงมอบหมายให้ธนาคารออมสินออกโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1.โครงการให้สินเชื่อตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนรายย่อย เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ประกอบด้วย โครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำภาคอสังหาริมทรัพย์ 4 มาตรการ แบ่งเป็น สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ประกอบธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์รวม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อ GSB D-Home กระตุ้นเศรษฐกิจ และสินเชื่อ GSB D-Home สร้างบ้านเพื่อคนไทย และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาฯ ได้มีทุนก่อสร้างโครงการบ้าน รวมทั้งดูแลกลุ่มประชาชนรายย่อยรวม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อบ้านออมสินเพื่อคนไทย และสินเชื่อ Top Up เพื่อให้รายย่อยสร้างบ้านด้วยตนเอง หรือจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนด้วยการ Refinance สินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูงในตลาด มาใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารออมสิน ภายใต้โครงการ “สินเชื่อรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม” จำนวน 4 มาตรการ แบ่งเป็น สินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้าฐานราก รวม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Re-Nano) และสินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อส่วนบุคคล (Re P-loan) และสินเชื่อรีไฟแนนซ์สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยบุคคล รวม 2 มาตรการ ได้แก่ สินเชื่อรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต (Re-Card) และสินเชื่อรีไฟแนนซ์สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Re-Home)
- โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ GSB Boost Up โดยธนาคารออมสินสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 100,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี วงเงินต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน SMEs ยื่นขอสินเชื่อได้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 โดยใช้เงื่อนไขเดียวกับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรองรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการ SMEs หวังให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ คาดว่า โครงการดังกล่าวของธนาคารออมสิน ช่วยสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ได้ประมาณร้อยละ 0.27. -515- สำนักข่าวไทย