ทำเนียบ 15 ก.ค.- นายกฯ เดินหน้าส่งเสริมให้ไทยมีส่วนในกระบวนการเพื่อความมั่นคงทางอาหารของโลก ยกระดับไทยสู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลอาเซียนในปี 2570 พร้อมจัดตั้ง Thailand Halal Valley ตั้งเป้าเพิ่ม GDP ภาคอุตสาหกรรม 5.5 หมื่นล้านบาท
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผลักดันศักยภาพสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหาร และเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงทางอาหารของโลก ผ่านมาตรการ กลไกการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งรวมทั้งการพัฒนาศักยภาพและสนับสนุนให้ไทยมีส่วนการส่งออกสินค้าประเภทอาหารในตลาดฮาลาล ซึ่งรัฐบาลโดยคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติได้กำหนดแนวทาง เพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ และตั้งเป้าให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.2 คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ติดตามสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก พบว่า ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารรายสำคัญของไทย ได้ดำเนินมาตรการความมั่นคงทางอาหารโดยการพึ่งพาตนเองมากขึ้น ทำให้ไทยปรับแผนกำหนดกลไกพัฒนาระบบเกษตรและอาหารที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านอาหารของโลก โดยเฉพาะด้านอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น และนับเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้
ทั้งนี้ ข้อมูลจากคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติพบว่า การส่งออกอาหารฮาลาลไทยปี 2566 ขยายตัว 4.0% เป็นมูลค่า 222,289 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) ซึ่งจะยกระดับไทยสู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน ภายในปี 2570 และทำให้ GDP ของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.2 คิดเป็นมูลค่า 55,000 ล้านบาท รวมถึงกำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย (ระยะแรก) ครอบคลุม 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล 2) แฟชั่นฮาลาล เช่น สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 3) ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 4) โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง และ 5) บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้วางกรอบการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าฮาลาลของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากล ผ่าน 3 มาตรการ ดังนี้
1) การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตฮาลาลไทย ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ศักยภาพสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทย การขยายตลาดสินค้าและบริการอาหารฮาลาลไทยในประเทศและต่างประเทศ
2) การพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยต้นแบบ การยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาลไทยเพื่อการส่งออก และ
3) การยกระดับปัจจัยแวดล้อมอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย การจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศอัจฉริยะอุตสาหกรรมฮาลาล (Halal Intelligence Unit: Halal IU) เป็นฐานข้อมูลรายงานเชิงลึกและวิเคราะห์ตลาด การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งประเทศไทย (Thailand Halal Valley) ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย และพัฒนาฝีมือแรงงานและบุคลากรฮาลาลไทย
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นในศักยภาพของสินค้าและอาหารฮาลาลของไทย ประกอบกับมีวิสัยทัศน์ที่เกิดจากการวิเคราะห์แนวโน้มของตลาดอาหารฮาลาลซึ่งมีอัตราเติบโตมากอย่างต่อเนื่อง จึงให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยสู่สากล นำเสนอสินค้าอาหารฮาลาลไทยให้มิตรประเทศ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางฮาลาลอาเซียนภายในปี 2570 ตลอดจนเดินหน้าต่อยอดให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหารของโลก เพื่อผลักดันให้เกิดโอกาสแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอาหาร กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายราย เพื่อพี่น้องคนไทย และเศรษฐกิจไทย” นายชัย กล่าว .314.-สำนักข่าวไทย