กรุงเทพฯ 17 ต.ค. – “พีระพันธุ์” ชี้ภาคอุตสาหกรรมต้องร่วมมือรัฐปรับตัวรับแผนพลังงานใหม่พร้อมรับเทรนด์โลกที่มุ่งลดคาร์บอน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอคคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 โดยสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า เรื่องการปรับตัวไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ภาครัฐเองก็ต้องทำเช่นกัน เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่ รวมถึงเทรนด์โลก เพราะทุกภาคมีส่วนปล่อยมลภาวะส่งผลต่อภาวะโลกร้อน เห็นได้จากภัยน้ำท่วมในไทย พายุเฮอริเคน ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
สิ่งที่ต้องทำให้ปรับตัวเข้ากับเทรนด์โลกคือ การลดคาร์บอนที่เกิดจากภาคพลังงาน เพื่อนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 และ Net Zero 2065 ซึ่งภาคอุตสหากรรมยังต้องใช้พลังงานฟอสซิล ฉะนั้นในแผนพลังงานใหม่จึงเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่ จึงเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การปรับตัวดังกล่าวทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ต้องจ่าย นับว่าเป็นสิ่งท้าทาย ซึ่งทั้งยังมีกฎระเบียบเกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดความยุ่งยากเป็นอุปสรรค ตนเองจึงศึกษาและร่างกฎหมาย เพื่อให้เอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าได้เอง ง่าย เน้นให้สามารถผลิตในประเทศทำให้ต้นทุนต่ำ
ภารกิจของแผนพลังงานฉบับใหม่จะต้องเป็นภาระ แต่เพื่อประเทศเดินหน้าสอดคล้องโลก อย่างไรก็ดี ทั้งหมดของแผนต่างๆ ไม่ได้สำคัญไปกว่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ ซึ่งภาครัฐพยายามดำเนินการให้มั่นใจได้ว่ากระทรวงพลังงานดำเนินการแผนพลังงานเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรม เพื่อประชาชน
“ขณะนี้แผน PDP อยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อทำให้ปริมาณคาร์บอนลดลงจากภาคการผลิต เพื่อเดินทางไปสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ และการจะเกิดขึ้นได้ก็อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจทุกฝ่าย เช่นทำอย่างไรให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เอง เพราะค่าใช้จ่ายด้านพลังงานสำคัญต่อทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ควบคุมไม่ได้จากการพึ่งพาเชื้อเพลิงในการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมทั้งที่นำเข้าจากเมียนมา ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจึงต้องรับมือกับเทรนด์โลกได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม คาดว่าแผนพลังงานชาติ หรือ NEP ซึ่งประกอบด้วย 5 แผนย่อยจะสามารถสรุปและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาได้ปลายปีนี้ “ นายพีระพันธุ์ กล่าว
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ของแผน PDP มีหลายประเด็นที่ยังต้องพิจารณา เช่น ปริมาณสำรองไฟฟ้า ค่าพยากรณ์ไฟฟ้า รวมถึงการกำหนดกำลังผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ไทย บรรลุเป้าหมายแนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2593 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero ) ภายในปี 2608 ซึ่งจากข้อเสนอแนะของหลายฝ่าย ทำให้ต้องปรับเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นและเร็วขึ้น ซึ่งร่างแผนตอนนี้ได้เพิ่มไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE)เป็น 51% จากปัจจุบัน 22% โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ที่จะต้องปรับให้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องพิจารณาความพร้อมของสายส่ง และความมั่นคง ซึ่งต้องมีการลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน . -517-สำนักข่าวไทย