กรุงเทพฯ 2 ก.ค.- ThaiBMA เผยครึ่งแรกปี 2567 ตลาดตราสารหนี้ไทยขยายตัว 2.7% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรรัฐบาลเป็นสำคัญ ส่วนหุ้นกู้ภาคเอกชนระยะยาวมีมูลค่าการออกเท่ากับ 494,371 ล้านบาท คิดเป็น 49% ของมูลค่าการออกทั้งปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade นอกจากนี้ผลสำรวจการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจากผู้ร่วมตลาดส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในปี 2567 โดยมี 43% คาดว่ามีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี
ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) แถลงภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย ไตรมาส 2 ปี2567 โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีมูลค่าคงค้างเท่ากับ 17 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.7% จากสิ้นปีที่แล้ว จากการเพิ่มขึ้นของตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลเป็นหลัก ในส่วนของการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว (หุ้นกู้ระยะยาว) มีมูลค่า 494,371 ล้านบาท โดย 95% เป็นการออกของหุ้นกู้ในกลุ่ม Investment grade ส่วนอีก 5% เป็นกลุ่ม High yield ซึ่งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าการออกของกลุ่มนี้มีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกันในสัดส่วนที่สูงถึง 81% สำหรับในครึ่งแรกปี 2567 สูงขึ้นจาก 48% ในปี 2566 และมีอายุการออกเฉลี่ยที่ 2.2 ปี ลดลงจาก 2.5 ปี ในปี 2566
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Government bond yield curve) ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ค่อนข้างทรงตัวจากปลายปี 2566 สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คงตัวอยู่ที่ 2.50% ตั้งแต่การประชุม กนง. รอบเดือนกันยายน ปี 2566 โดย Bond yield รุ่นอายุ 2 ปี และ 5 ปี ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย1 bps. และ 2 bps. ในขณะที่ Bond yield 10 ปี ปรับตัวลงเล็กน้อย 2 bps. จากสิ้นปี 2566 มาอยู่ที่ 2.35% 2.47% และ 2.68% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 ตามลำดับ
เส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate bond yield curve) รุ่นอายุ 5 ปี ในช่วงครึ่งแรก ปี 2567 ของหุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA และ A ค่อนข้างทรงตัวในทิศทางเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หากแต่หุ้นกู้ BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนที่ปรับตัวสูงขึ้นราว 24 – 32 bps.จากสิ้นปี 2566 สะท้อนถึงส่วนชดเชยความเสี่ยง (Credit spread) ที่สูงขึ้นจากการที่ผู้ลงทุนมีความระมัดระวังการลงทุนหุ้นกู้กลุ่มดังกกล่าวมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2567 หุ้นกู้กลุ่ม AAA, AA, A, BBB+ และ BBB มีอัตราผลตอบแทนเท่ากับ3.15%, 3.26%, 3.55%, 4.76% และ 5.73% ตามลำดับ
กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund flow)ของนักลงทุนต่างชาติในครึ่งแรก ปี 2567 เป็นการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยทั้งในไตรมาส 1 และ 2 รวมเป็นมูลค่าการขายสะสมสุทธิตราสารหนี้ไทยจำนวน66,514 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาด ผนวกกับการที่พันธบัตรรัฐบาลของอินเดียได้ถูกรวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ J.P. Morgan (GBI-EM) ที่จะส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยมีสัดส่วนในดัชนีลดลง โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2567 นักลงทุนต่างชาติมีการถือครองตราสารหนี้ไทยเท่ากับ 8.7 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.1% ของมูลค่าคงค้างตลาดตราสารหนี้ไทยอายุคงเหลือของตราสารหนี้ไทยที่ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองมีอายุเฉลี่ย 9.0 ปี เพิ่มขึ้นจาก 8.6 ปี เมื่อสิ้นปี 2566
ดร.สมจินต์ ยังกล่าวถึงผลสำรวจผู้ร่วมตลาดเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยในปี 2567 พบว่าส่วนใหญ่คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ในปี2567 โดยมี 43% ที่คาดว่ามีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในรอบเดือนธันวาคมซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปี
สำหรับการคาดการณ์ Bond yield ไทย ผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าในปี 2567 Bond yield ไทยรุ่นอายุ 5 ปี และ 10 ปี จะขยับตัวลงเล็กน้อยเฉลี่ยราว
5 bps. ในครึ่งปีหลังนับจากวันที่ทำการสำรวจ มาอยู่ที่ 2.47% และ 2.73% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2567 โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อ Bond yield ในอนาคตคือ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเป็นสำคัญ
พร้อมกันนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) ได้เปิดตัว ค่ากลางอัตราส่วนการเงินรายอุตสาหกรรม (Industry Financial Ratio) และFinancial ratio ของผู้ออกในรูปแบบ Percentileเทียบกับอุตสาหกรรม (Financial Ratios Comparing to Industry) บนเว็บไซต์ ThaiBMAเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแนวทางการดำเนินงานของThaiBMA ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน.-516-สำนักข่าวไทย