กรุงเทพฯ 2 ก.ค. – ทรีนีตี้ ชี้เศรษฐกิจ-ตลาดทุนไทยแข็งแกร่งขึ้น หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง-ลอยตัวค่าเงินบาทครบ 27 ปี แต่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง เชื่อไตรมาส 4 เงินทุนไหลเข้า หลังเฟดลดดอกเบี้ย คาดดัชนีหุ้นไทยครึ่งหลังปี 67 เคลื่อนไหวในกรอบ SET 1240-1430 จุด ค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพที่ 37 บาท
ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงวาระครบ 27 ปี วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และครบรอบลอยตัวค่าเงินบาทวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ว่าเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งขึ้นมาก ดูจากมูลค่าตลาดทุน (Market Capitalization) ต่อ GDP ปรับเพิ่มขึ้นจาก 24% มาสู่ 97% ของ GDP รวมประเทศ ตลาดตราสารหนี้มีการพัฒนาอย่างมากจากมูลค่าต่ำกว่าล้านล้านบาทในปี 1997 มาสู่ระดับ 17 ล้านๆบาท หรือ 95% ของ GDP ในปัจจุบัน ภาพการระดมทุนมีความสมดุลมากขึ้นทั้งตราสารหนี้ ตราสารทุนและสินเชื่อธนาคาร ขณะที่ทุนสำรองต่อ GDP มีความแข็งแกร่งขึ้นมาอยู่ที่ 44% ของ GDP เมื่อเปรียบเทียบกับระดับ 18% ของ GDP ในช่วงที่ 1997 ดุลเดินสะพัดมีความแข็งแกร่ง (บางปีถึง 10% ของ GDP) แต่ในส่วนของดุลบัญชีทุนเริ่มอ่อนแอลงนับตั้งแต่ปี 2556
ด้านหนี้สินภาคธุรกิจมีความแข็งแกร่งขึ้นจาก 175% ของ GDP ลงมาสู่ 95% ของ GDP ในปี 2552 ก่อนเพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 197% GDP ในปีกลางปี 2567 เนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ภาคธุรกิจต้องก่อหนี้เพิ่ม ส่วนกำไรสุทธิต่อหุ้นดีขึ้นจากที่ขาดทุนสุทธิช่วงปี 2540 มาสู่ระดับ 80-90 บาทต่อหุ้นในปัจจุบัน
สำหรับค่าเงินบาท ตั้งแต่มีการประกาศลอยตัวจาก 25 บาท/ ดอลล่าสหรัฐ ลงไปอ่อนค่าสุด 54 บาท /ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเคยปรับแข็งค่าที่สุดประมาณ 27 บาท หลังวิกฤตซับไพร์ม เพราะมีเม็ดเงินที่ไหลมาจากสหรัฐฯ ปัจจุบันค่าเงินบาทอ่อนตัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสหรัฐมีนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงเป็นระยะ เวลานาน และจากการคาดการณ์เป็นไปได้ว่าเฟด จะลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 1 ครั้ง หรืออาจไม่ลดเลย ขณะที่ฝั่งยุโรป มีการลดดอกเบี้ย ทำให้เกิดช่องว่างของดอกเบี้ย ที่มีมากขึ้น ทำให้ค่าเงินประเทศต่างๆในอาเซียน เริ่มอ่อนตัวลง โดยจากข้อมูล Real Effective Exchange Rate ที่ยังอยู่ในภาวะสมดุล มองว่าค่าเงินบาทจะมีเสถียรภาพที่ประมาณ 37 บาท
”แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงวิกฤต แต่ก็ยังมีบางภาคส่วนที่อ่อนแอลงมากในเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 40% ของ GDP มาสู่ระดับ 91% ของ GDP ในปัจจุบัน และนำไปสู่ความอ่อนแอของการออมภาคครัวเรือน“ ดร.วิศิษฐ์ กล่าว
สำหรับมูลค่าการซื้อขายของตลาดทุนไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ Market Cap. ของตลาดหุ้นอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี นักลงทุนที่เป็นรายบุคคลไทยได้ลดลงจาก 47% มาสู่ระดับ 31% และมองว่าตลาดทุนไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ได้ผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายสุดในด้านเงินทุนไหลออกไปแล้ว หลังเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในไตรมาส 1 และ 2 ไปแล้วกว่า 1.1 แสนล้านบาท โดยเหตุผลสำคัญมาจากช่องว่างระหว่างผลตอบแทนของพันธบัตร สหรัฐและไทย มีค่อนข้างสูง ทำให้มีเงินส่วนหนึ่งที่ไปลงทุนในพันธบัตรสหรัฐ ทั้งต่างชาติขายออก และเงินทุนคนไทยผ่านบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ หรือ Foreign Currency Deposit (FCD) ที่ไหลออกไปลงทุนในสหรัฐ กว่า 820,000 ล้านบาท
Fund Flow ทั้งการซื้อและขายของนักลงทุนต่างชาติจะเป็นแบบเบาบางในไตรมาส 3 ทั้งภูมิภาคเนื่องจากเม็ดเงินส่วนใหญ่ยังคงรอสัญญาณการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และการเลือกตั้งสหรัฐฯ และคาดว่า Fund Flow จะเริ่มคงไหลเข้ามาในปลายไตรมาส 4 ความชัดเจนของการลดดอกเบี้ยของ Fed และเป็นช่วง High season ของการท่องเที่ยวไทย
ดร.วิศิษฐ์ กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ในช่วงสั้น 1-3 เดือนข้างหน้า ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ จะยังคงแข็งค่า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของส่วนต่าง (Gap) ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และธนาคารกลางอื่นทั่วโลกยังอยู่สูง นอกจากนี้ คาดการณ์ว่า Fed อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% หรือคงดอกเบี้ย และคาดการณ์ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยทั้งปี ขณะที่ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ถ้าทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า ก็จะนำไปสู่การลดลงของกำไรสุทธิต่อหุ้นของตลาดหุ้นไทย และตลาดหุ้นโลกมักปรับตัวลดลงกว่า 10% โดยเฉลี่ยก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 4 เดือน (สถิติจากการเลือกตั้ง 25 ปีย้อนหลัง)
ตลาดหุ้นในไตรมาส 3 จะถูกขับเคลื่อนโดยนักลงทุนสถาบัน มองการเคลื่อนไหวของ SET ในช่วงที่เหลือของปีที่ 1240-1430 โดยที่ 1240 (โดยใช้สมมติฐานที่ PE 11.9X และ consensus EPS 2025 ที่ 107 บาทต่อหุ้นและ PE ที่ 13.8x) มองตลาดหุ้นไทยเป็น K shape และเป็น sector selection โดยแนะนำให้ลงทุนใน sector ที่เน้นการขยายตัวของกำไร คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร กลุ่มโทรคมนาคม กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มโรงพยาบาล
ดร.วิศิษฐ์ เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มสนใจหุ้นไทยเมื่อ Earning yield gap ของตลาดหุ้นไทย เมื่อเปรียบเทียบกับ Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐที่ค่าเฉลี่ยที่ 3.24% หรือระดับดัชนี SET ที่ 1,250 และมองตลาดหุ้นไทยจะมี Fund Flow ไหลเข้าในปลายไตรมาส 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มธนาคารที่มีปันผลสูง.-516-สำนักข่าวไทย