กรุงเทพฯ 28 มิ.ย. – ธปท.เผย พ.ค.67 เศรษฐกิจขยายตัวโดยเฉพาะท่องเที่ยว-บริการ ฟื้นต่อเนื่อง แต่ส่งออก-การผลิต-ลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัว จับตาการเร่งเบิกจ่ายงบฯ-ส่งออก-ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ร่วมกันแถลงภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนพฤษภาคม 2567 โดยเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางขยายตัว โดยชะลอลงบ้างหลังจากเร่งไปในเดือนก่อน ทั้งการส่งออกสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย ด้านการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาขยายตัวสูงทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ ประกอบกับรายจ่ายลงทุนในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจขยายตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงหลังจากที่เร่งไปในเดือนก่อนในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) ยานยนต์ ตามการส่งออกรถกระบะไปออสเตรเลีย 2) เครื่องใช้ไฟฟ้า ตามการส่งออกเซลล์แสงอาทิตย์และเครื่องปรับอากาศไปยุโรปและสหรัฐฯ และ 3) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำตาลไปอาเซียน อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อาทิ หมวดสินค้าเกษตรโดยเฉพาะทุเรียนไปจีน และผลิตภัณฑ์เคมีและเคมีภัณฑ์ไปจีน
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนจากการนำเข้าเชื้อเพลิง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน รวมถึงวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางไม่รวมเชื้อเพลิงลดลงต่อเนื่อง ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคปรับลดลง โดยเฉพาะการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่อุปสงค์มีทิศทางชะลอตัว
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนโดยปรับลดลงในหลายหมวด โดยเฉพาะ 1) ปิโตรเลียม จากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นชั่วคราวเป็นสำคัญ 2) ยานยนต์ โดยเฉพาะการผลิตรถกระบะ และ3) เครื่องใช้ไฟฟ้าหลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อนสอดคล้องกับการส่งออกในหมวดดังกล่าวที่ลดลง อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การผลิตในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามการผลิตน้ำมันปาล์มและอาหารสัตว์สำเร็จรูป
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลง จากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง โดยเฉพาะจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและการนำเข้าคอมพิวเตอร์ ประกอบกับพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างชะลอลง ตามพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรมและโรงงานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น ตามยอดจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ และกระเบื้อง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้ (short-haul) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสัญชาติมาเลเซีย และจีน ที่ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว อาทิ การยกเว้นวีซ่า และการยกเว้นการยื่นเอกสารสำหรับผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองทางบก
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายหมวดบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับกิจกรรมในภาคท่องเที่ยว ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนและไม่คงทนทรงตัว หลังยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและสินค้าอุปโภคบริโภคเร่งไปแล้วในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในประเทศและเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนกลับมาขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางที่เร่งขึ้น ภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้เมื่อปลายเดือนเมษายน 2567 โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ และการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา ขณะที่รายจ่ายลงทุนขยายตัวจากการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านการศึกษา กรมโยธาธิการและผังเมือง และโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ
ด้าน เสถียรภาพเศรษฐกิจ พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นในหมวดพลังงานและหมวดอาหารสด จากผลของฐานค่าไฟฟ้าในปีก่อนที่ต่ำจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ และราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยลดมาตรการของภาครัฐ ประกอบกับราคาเนื้อสัตว์และผักเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากดุลการค้าเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนทั้งในภาคบริการและการผลิต
ทั้งนี้ ธปท.มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวและการกลับมาเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ แต่คาดว่าการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยัง ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง ดังนั้น ในระยะต่อไปยังต้องติดตาม ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์.-516-สำนักข่าวไทย