กรุงเทพฯ 10 มิ.ย.- กรมการขนส่งทางบก เล็งอนุญาตให้ต่อใบขับขี่รถยนต์ทางออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่งด้วยตนเอง เร่งประสานแพทยสภา กรมการปกครอง เชื่อมโยงระบบ พร้อมเร่งส่งเสริมการใช้รถพลังงานสะอาดในระยะยาว เก็บภาษีประจำปีรถตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ กนอ.แนะรัฐสนับสนุนรถไฮบริด ป้องกันการย้ายฐานการผลิตของค่ายรถยนต์
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกมีแนวคิดที่จะอนุญาตให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สามารถต่ออายุใบอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาติดต่อขอต่อใบอนุญาตขับขี่ที่กรมขนส่งทางบก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ใบอนุญาตขับขี่ รวมทั้งลดภาระการทำงานในส่วนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามกฎหมายของกรมขนส่งทางบก กำหนดว่าผู้ที่จะขอต่อใบอนุญาตขับขี่รถยนต์จะต้องมีใบรับรองแพทย์ และต้องมาทดสอบปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายและทดสอบสายตาที่สำนักงานขนส่งฯ แต่หากในอนาคตสามารถทำทุกอย่างผ่านออนไลน์ได้ ผู้ที่จะต่อใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ก็ไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่งแล้ว เช่น ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีระบบเทเลเมดิซีน (DMS Telemedicine) หรือ “ระบบการแพทย์ทางไกล” ซึ่งอาจจะมีการตรวจสอบต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ของแพทย์ แล้วก็เชื่อมต่อข้อมูลกับระบบของกรมฯ และกรมฯ ต้องเชื่อมต่อกับระบบของกรมการปกครองด้วย เพื่อที่จะประสานข้อมูลส่วนบุคคล และสามารถนำภาพถ่ายบัตรประชาชนมาใช้ได้โดยไม่ต้องมาถ่ายรูปที่สำนักงานขนส่งฯ
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ขอใบอนุญาตฯ รายใหม่ และผู้ขอต่อใบอนุญาตฯ ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปจะต้องมาต่อใบอนุญาตใบขับขี่ด้วยตนเองตามระบบเดิม เนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นอาจจะทำให่ค่าสายตาเปลี่ยน ซึ่งต้องมีการทดสอบในทางลึก ส่วนการส่งเสริมการใช้รถพลังงานสะอาดในระยะยาว ขณะนี้กรมฯ ได้ร่างกฎหมายรอไว้แล้ว โดยเป็นการเสนอแก้ไขกฏหมายในระยะยาว เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยจะเป็นการคิดอัตราภาษีประจำปีของรถจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากเดิมที่คิดจากความจุของกระบอกสูบรถ น้ำหนักตัวรถ โดยในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะเป็นการคิดอัตราภาษีประจำปีจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากปล่อยในปริมาณมากก็คิดภาษีประจำปีในอัตราสูง แต่หากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยก็คิดภีประจำปีน้อยลง ซึ่งการแก้ไขกฎหมายนี้จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติซึ่งเป็นอัตราภาษีแนบท้ายพระราชบัญญัติ ซึ่งจะทำให้การลดภาษีต่างๆ มีความยั่งยืนมากขึ้น
“เมื่อถามว่าร่างกฎหมายใหม่เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาดนี้ จะทำให้จัดเก็บภาษีได้น้อยลงหรือรายได้จากการจัดเก็บภาษีจะน้องลงหรือไม่นั้น อาจจะมีการพิจารณายกเลิกการลดภาษีรถเก่าที่เป็นกฎหมายเมื่อ 30-40 ปีมาแล้ว ในต่างประเทศรถยิ่งเก่ายิ่งต้องเสียภาษีเพิ่ม แต่ของประเทศไทยก็อาจจะไม่มีส่วนลดภาษีประจำปีให้รถเก่า และจะนำส่วนต่างภาษีไปส่งเสริมการใช้รถพลังงานสะอาดแทน โดยรถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยก็เสียภาษีประจำปีน้อย ส่วนรถที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากก็เสียภาษีประจำปีแพงกว่า โครงสร้างนี้ได้มีการร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชน ก่อนเสนอกระทรวงให้ความเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายนนี้ และนำเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าว
ทางด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนในประเทศไทยยังไปได้ดี ล่าสุด กนอ. และบริษัท แอลพีพี อินดัสเตรียล เอสเตท จำกัด ได้ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 69 ภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. โดยนิคมอุตสาหกรรมแอลพีพี นครสวรรค์ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารแบบครบวงจร ซึ่งจะเป็น Smart Agriculture Industrial Estate ที่มีมูลค่าโครงการ 800-900 ล้านบาท พื้นที่โครงการประมาณ 673 ไร่ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2569 ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในประเทศกว่า 18,200 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 4,554 คน
ส่วนภาพรวมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ พบว่าขณะนี้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมฯ ของเอกชน ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขมูลค่าการลงทุน คาดว่าเดือนหน้าจะได้ตัวเลขทั้งหมด ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นขณะนี้ยังใกล้เคียงกับของเดิม อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้มีบางกิจการย้ายฐานการผลิต อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าเป็นไปตามกลไกตลาดอุตสาหกรรม ส่วนที่มีกระแสข่าวว่านักลงทุนหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นนั้น ล่าสุดก็ทราบว่าเขายังสนใจลงทุนในบ้านเราอยู่เช่นกัน ดังนั้น จึงต้องรอฟังอีกสักระยะหนึ่ง ก็คงจะมีความชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่จีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายส่งเสริมอีวีของเราที่ได้ผลดี ขณะนี้ซัพพลายเชนเขากำลังเริ่มมา รวมถึงแบตเตอรี่อีวี ขณะเดียวกันประเด็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นก็เป็นแรงผลักดันให้นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หาพื้นที่ตั้งฐานการผลิตที่ปลอดภัย ไม่มีผลกระทบ ส่วนประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ ตนเองมองว่าไม่ใช่ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ปัจจัยหลักน่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า
“ส่วนเรื่องการปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย หลังยอดขายตก ตนเองคิดว่ารัฐบาลเองก็ต้องมองในจุดนี้ และต้องพิจารณาหากว่าเรายังต้องการเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia)” อยู่ ก็ต้องสนับสนุนให้เกิดความสามารถในการแข่งขันของค่ายรถยนต์ที่อาจจะไม่ใช่การสนับสนุนรถยนต์สันดาปโดยตรง แต่เป็นการสนับสนุนรถยนต์ไฮบริด ในช่วงของการเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานรูปแบบใหม่ให้สามารถแข่งขันกับอีวีได้หรือไม่ นี่คือคือสิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณา เช่น อาจจะต้องมีนโยบายทางภาษีสนันสนุนรถยนต์ไฮบริจ ซึ่งจะยังสามารถคงฐานการผลิตและซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์ได้” นายวีริศ กล่าว. -517-สำนักข่าวไทย