ระยอง 24 พ.ค. – BAM ครบ 25 ปี ช่วยลูกหนี้กลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจ 4.8 แสนล้านบาท ผลเรียกเก็บหนี้ไตรมาส 1 ปี 67 ปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 9.44 กำไรสุทธิ 423 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 58.43 นำ AI ช่วยจัดการลูกหนี้
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า ผลดำเนินงานในช่วง 25 ปี ที่ผ่านมา หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ช่วยเหลือลูกหนี้ให้ยุติแก้ไขปัญหาหนี้ 155,683 ราย ภาระหนี้เงินต้น 484,649 ล้านบาท จำหน่ายทรัพย์ NPA ไปแล้ว 52,258 รายการ ราคาประเมิน 122,866 ล้านบาท ในขณะที่ผลเรียกเก็บไตรมาส 1 ปี 67 ทำได้ 3,535 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 9.44 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 จำนวน 3,230 ล้านบาท สร้างผลกำไรสุทธิ 423 ล้านบาท เติบโตสูงร้อยละ 58.43 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีผลกำไร 267 ล้านบาท ส่งผลทำให้ตลอดช่วง 25 ปี BAM มีกำไรสะสมรวม 77,593 ล้านบาท ปัจจุบัน BAM มี NPL จำนวน 87,371 ราย ภาระหนี้รวม 496,002 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระบบสถาบันการเงินร้อยละ 98.06 ขณะที่ NPA มีจำนวน 24,378 รายการ ราคาประเมิน 72,958 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระบบสถาบันการเงินร้อยละ 47.19
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการ NPL มุ่งเน้นผ่านมาตรการโอนตีทรัพย์ชำระหนี้ มาตรการซื้อคืนทรัพย์หลักประกัน (First Buyers Option) มาตรการปรับลดหนี้ และมาตรการแปลงหนี้เป็นทุน โดยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของ BAM จะเน้นการเจรจาภายใต้เงื่อนไขที่ผ่อนปรนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ นอกจากมาตรการเหล่านี้แล้วยังมีโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคืนทรัพย์ให้คุณ โครงการสุขใจได้บ้านคืน ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญหรือปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของ BAM ที่ต้องการคืนทรัพย์หลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินให้ลูกหนี้
นายบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า BAM ได้กำหนดแผนกลยุทธ์ประจำปี 2567 ประกอบด้วย กลยุทธ์การขยายธุรกิจ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan ด้วยการจัดกลุ่มลูกหนี้ Clean Loan ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บริหารเอง กับกลุ่มที่ให้ทนายนอก/Collector บริหารจัดการ เพื่อลดเวลาในการติดตามหนี้ และการดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) โดยในเบื้องต้น BAM จะคัดเลือกทรัพย์ประเภทโครงการ เพื่อกำหนดมาตรฐานเงื่อนไข รวมถึงกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ การพัฒนา Pricing Model ในการกำหนดราคาซื้อ และเน้นการลงทุนแบบ Selective และการลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น
เตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสม ในช่วงข้างหน้า 3-5 ปี BAM วางแนวทางการเป็น Digital Enterprise ปรับกระบวนการทำงานหลักสำหรับ NPL NPA LAW และบัญชีการเงิน รวมถึงการสร้างฐานข้อมูล ในช่วง 3-5 ปี มุ่งสู่การเป็นศูนย์การสร้างมูลค่าทรัพย์ สู่การเป็น Non-Financial Debt Management (NFD) ส่วนระยะ 5 ปี สร้างโอกาสในระยะยาวด้วยการเพิ่มพอร์ตไปยัง Non-RE (Alternative assets), ปล่อยกู้ลูกหนี้ที่ชำระอย่างสม่ำเสมอ การเป็น Regional NPLs marketplace การจัดทำธุรกิจลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private equity) การ Distressed PE broker และการพัฒนาธุรกิจด้านข้อมูลการลงทุนอสังหาฯ (RE Data intelligence) รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอนาคต .-515- สำนักข่าวไทย