20 พ.ค. – ผู้ก่อตั้งแพรนด้า จิวเวลรี่ ชี้ปัจจุบันโลกเผชิญกับสถานการณ์โลกเดือด กระตุ้นทุกอุตสาหกรรมต้องตระหนักร่วมกัน
นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานที่ปรึกษากรรมการบริษัทและผู้ก่อตั้ง บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวในเวทีเสวนา “แนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนในธุรกิจอัญมณีและครื่องประดับ” ในงาน Jewellery and Gem ASEAN Bangkok 2024 จัดขึ้นโดย Informa Markets Thailand
นายปรีดา กล่าวว่า ในปัจจุบันโลกเราไม่ใช่เพียงแต่เผชิญกับสถานการณ์โลกร้อน ( Global Warming ) แต่เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์โลกเดือด ( Global Boiling ) เนื่องจากโลกเราร้อนขึ้นทุกๆ ปี ซึ่งทุกอุตสาหกรรมจะต้องใส่ใจและให้ความสำคัญที่จะต้องยึดแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ( Sustainability ) สำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนั้น มี RJC Code of Practice เป็นมาตรฐานที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ภายใต้ Responsible Jewellery Council ( RJC ) ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันมาโดยตลอด
ในส่วนของแพรนด้า กรุ๊ป ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาธุกิจพร้อมๆ กับการตระหนักและยึดถือแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนขององค์กรเป็นอันดับต้นๆ เสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร เพราะพลังของการขับเคลื่อนธุรกิจอัญมณีฯต้องอาศัยฝีมือการผลิตชั้นสูง ดังนั้นอุตสาหกรรมอัญมณีฯ ต้องมีจิตสำนึกที่จะดูแลมนุษย์ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน เมื่อพนักงานมีคุณภาพขีวิตที่ดี การผลิตอัญมณีแต่ละชิ้นก็จะได้ผลลัพธ์ในท้ายที่สุดคือ ชิ้นงานที่มีคุณภาพสูงสุด เป็นที่พึงพอใจของลูกค้า
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาของการดำเนินธุรกิจ แพรนด้า กรุ๊ป ได้ปลูกฝังให้ทุกคนตระหนักว่า กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน ต้องร่วมกันมุ่งสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ( Net Zero ) ให้ได้ ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่างก็ให้ความสำคัญถึงแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนอย่างมุ่งมั่น หากมองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นได้ว่า แนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมต่างๆ ในโลกเรานี้ ได้มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ อย่างเมื่อ 24 ปีที่ผ่านมา ผู้แทนของดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ได้มาพบตนพร้อมกับคณะนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ( Social Venture Network : SVN ) ที่ประเทศไทย ในขณะนั้น คณะผู้แทนฯดังกล่าวได้พูดคุยและห่รือกัน โดยสิ่งสำคัญคือการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมว่า จะต้องคำนึงถึงโลกและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดยจะต้องยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ( Sustainable Development ) อุตสาหกรรมจึงจะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น เรื่องแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนจึงเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบการทุกภาคอุตสาหกรรม. -111 สำนักข่าวไทย