กรุงเทพฯ 26 เม.ย. – กกพ.เตรียมเรียกค่า Shortfall รอบ 2 คืนจาก ปตท.อีก 4,700 ล้านบาท ระบุนำไปลดค่าไฟ คาด ปตท.ยื่นอุทธรณ์อีก หลังจากก่อนหน้านี้ ต้องจ่ายรอบแรกไปแล้วมูลค่า 4,300 ล้านบาท และยังเตรียมทวงภาระคงค้างค่าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมอีก
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน สั่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งตรวจสอบกรณีผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซธรรมชาติได้ตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) ของ บมจ. ปตท. เพิ่มเติมจากงวดแรก 4,300 ล้านบาท ว่ามีช่วงเวลาอื่นอีกหรือไม่ว่า ล่าสุดทาง กกพ.ได้รายงานผลการตรวจสอบพบปี 2556 – 63 ยังมีส่วนต่างราคา Shortfall ที่ ทางปตท. ซื้อก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แต่ยังไม่ได้สะท้อนเข้าเป็นส่วนลดตามสูตรราคาก๊าซฯ เฉลี่ยรวม 3 แหล่ง (Pool Gas) ประมาณ 4,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการตรวจสอบการส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ เตรียมประชุมหารือในวันที่ 29 เม.ย.นี้ เพื่อพิจารณากรณีตัวเลขมูลค่า Shortfall ที่เกิดขึ้น ก่อนสรุปตัวเลขอย่างเป็นทางการ เพื่อนำเสนอให้ บอร์ด กกพ. มีมติแจ้งไปยัง ปตท.ต่อไป หากปตท.ไม่เห็นด้วยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งอาจจะนำมาลดต้นทุนค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปี 2567 (ก.ย.-ธ.ค.67) ได้ประมาณ 0.078 บาทต่อหน่วย หรือ 7.8 สตางค์
ก่อนหน้านี้ บอร์ด ปตท. มีมติยอมจ่ายค่า Shortfall มูลค่า 4,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่จัดเก็บจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กรณีผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณไม่ได้ตามสัญญา และต้องจ่ายค่าเรียกรับจากผู้ขายก๊าซธรรมชาติในแต่ละวัน (Shortfall) ให้แก่ ปตท. ตั้งแต่ประมาณกลางปี 2564 จนถึงช่วงหมดสัญญาสัมปทานวันที่ 23 เม.ย.2565 ปตท.มีการอุทธรณ์แต่ กกพ.ยกคำอุทธรณ์ โดย กกพ.ได้นำเงินค่า Shortfall มาลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเอฟที ในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567
ในขณะที่เอกสารของ กกพ.ระบุ การคำนวนค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) งวดพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ยังไม่รวมเงินภาระคงค้าง ค่าก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นําเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 คงที่ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ( กพช.) จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ เป็นจํานวนเงิน 12,076 ล้านบาท และคงค้างที่ กฟผ. เป็นจํานวนเงิน 3,800 ล้านบาท รวมประมาณ 15,876 ล้านบาท โดยสํานักงาน กกพ. จะได้ตรวจสอบ และนําเสนอ กกพ. พิจารณากํากับการดําเนินงานให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ต่อไป
โดยค่าเอฟที ขายปลีกงวดพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 เท่ากับ 39.72 สตางค์ ต่อหน่วย สะท้อนแนวโน้มต้นทุน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชําระคืนภาระต้นทุนคงค้างที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กู้เงินมาเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564-ธันวาคม 2566 โดยทยอยคืนหนี้ กฟผ. ประมาณ 7 งวดๆ ละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย โดยคาดสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 85,689 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมค่า Ft ขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทําให้ค่าไฟฟ้างวดนี้ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วย.-511- สำนักข่าวไทย