กรุงเทพฯ 23 เม.ย.-ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุแม้ผลกระทบต้นทุนผลิตทั้งน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน หรือสภาพอากาศ ทำให้ผู้ประกอบการทั้งระบบได้รับผลกระทบมาก แต่จะพยายามตรึงสินค้าให้นานที่สุด แนะรัฐบาลเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้านช่วยภาคธุรกิจ ฟันธงจีดีพีปีนี้โตแค่ 2.6% แม้มีดิจิทัลวอลเล็ตช่วยก่อนสิ้นปี
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า แม้แนวโน้นต้นทุนวัตถุดิบ เช่น น้ำมันดีเซลจะขยับสูงขึ้น โดยที่ภาครัฐจะไม่ต่อมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแล้วก็ตาม ประกอบกับปัญหาความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงแม้จะส่งผลดีราคาสินค้าส่งออกได้ราคาสูงขึ้น หรือจากสภาพอากาศในปีนี้แล้งและร้อนนานส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรน้อยแต่มีราคาแพงขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือว่ากระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศอย่างมาก และในฐานะภาคเอกชนในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอาหารคงจะพยายามช่วยกันตรึงราคาสินค้าไว้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนทั่วประเทศให้น้อยที่สุดด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต้นทุนดังกล่าวภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งหามาตรการต่างๆเข้ามาช่วยเหลือทุกกลุ่มภาคอุตสาหกรรมไม่ให้ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป โดยเฉพาะเมื่องบประมาณปี 67 สามารถมีผลบังคับใช้จริงต้องการให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระจายลงในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว แม้จะมีปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น สงครามที่เกิดขึ้นยังมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม ดังนั้น ภาคเอกชนไม่อยากเห็นการใช้เงินกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาน้ำมันอีกแต่หากจะปรับโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรมยิ่งขึ้นน่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่า โดยภาคเอกชนเห็นด้วยที่จะปรับโครงสร้างราคาน้ำมันที่ใช้อยู่ให้ดีและสอดคล้องกับความเป็นจริง
นอกจากนี้ ยังมองว่า มาตรการที่รัฐบาลจะช่วยเหลือประชาชนผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลประกาศจะเดินหน้าทำเต็มที แต่ภาคเอกชนก็อยากให้โครงการนี้ถึงมือประชาชนระดับรากหญ้า เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนแต่สิ่งที่อยากให้คลอบคลุมร้านค้าอยากเป็นร้านค้ารายย่อยด้วยเพื่อเป็นการกระตุ้นรอบด้านทุกกลุ่ม ดังนั้น ในปีนี้ถือว่ายังมีปัจจัยกระทบหลายด้าน จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 2.6 เท่านั้น แม้จะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไม่เห็นด้วยต่อแนวทางการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เพราะจะเป็นการซ้ำเติมต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมเอสเอ็มอีของไทยอย่างมาก โดยการปรับขึ้นค่าแรงเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก่อนถือว่ารับได้ เพราะเป็นการเสริมการท่องเที่ยวไทยจึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบแต่หากจะปรับทั่วประเทศ 400 บาทจึงไม่ควรดำเนินการ ส่วนเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเชิญ 4 สถาบันการเงินมาหารือและขอให้ช่วยเหลือประขาชนลดอัตราดอกเบี้ยนั้น ถือว่าหากทั้ง 4 แบงก์ลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่คิดว่า แนวทางบริหารด้านการเงินหน้าจะเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะกำกับดูแลจะดีกว่า โดยรัฐบาลไปดูแลในด้านการคลังเพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณลงไปสู่ทุกพื้นที่จะดีกว่า.-514-สำนักข่าวไทย