กรุงเทพฯ 1 เม.ย. – ปตท. พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจมุ่งสู่ Net Zero ตามเป้าหมายของประเทศไทย หนุน T-VER ขึ้นมาตรฐานสากล ชี้เป็นกุญแจสำคัญช่วยบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Thailand Net Zero Target: Readiness and Challenges” ในงานเสวนา “Thailand Net Zero 2024 – Now or Never” โดยระบุว่า กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2065 เป็นเวลา 15 ปี โดยมองว่าการที่กลุ่มบริษัทใหญ่ ประกาศ Net Zero เร็วกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ ถือว่าเป็นอีกแนวหนึ่งที่จะช่วยให้เป้าหมายของประเทศสัมฤทธิ์ผล โดย ปตท. ได้ดำเนินการใน 3 แนวทางหลัก (3P) หรือ “3 ร” ได้แก่
1.”เร่ง ปรับ” กระบวนการผลิต (Pursuit of Lower Emissions) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุดผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต สร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยใหม่ทดแทนหน่วยเก่า ซึ่งขณะนี้ มีการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เมื่อเสร็จสมบูรณ์ ก็จะปิดโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 โดย ปตท.ตั้งเป้าลดการใช้ก๊าซเรือนกระจก 200,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
- “เร่ง เปลี่ยน” สู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Portfolio Transformation) ปตท. ปรับวิสัยทัศน์ใหม่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต โดย ปตท.ประกาศมุ่งสู่พลังงานทดแทน 15,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2030 พร้อมเข้าสู่ธุรกิจ EV Value Chain
- “เร่ง ปลูก” ป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร (Partnership with Nature and Society) เพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ ม ปตท.มีประสบการณ์ในการปลูกป่ามาแล้ว 2 ล้านไร่ ซึ่งสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 2 ล้านตัน/ปี โดยกลุ่ม ปตท.จะเร่งปลูกป่าเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030
นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การผลักดัน โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ให้เป็นมาตรฐานสากลให้ได้ถือเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยเรื่องในเรื่องการส่งออกได้อีกด้วย ซึ่งมองว่าการผลักดัน T-VER ให้เกิดขึ้นต้องเป็นความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยงาน องค์กร ภาคการศึกษา และภาคประชาชน.-516-สำนักข่าวไทย