กรุงเทพฯ 29 ก.พ.-วงเสวนา “RECs Talk 2024 – Unlocking Potential: I-RECs In Thailand” กระตุ้นทุกภาคส่วนตระหนัก-รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หนุนทุกภาคส่วนเพิ่มศักยภาพสูงสุดในการได้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (RECs) คาด พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับแรกของไทยเข้า ครม.กลางปีนี้
งานเสวนา “RECs Talk 2024 – Unlocking Potential: I-RECs In Thailand” จัดโดยบริษัทเวฟ บีซีจี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บมจ.เวฟ เอกซโพเนนเชียล เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมตระหนักและรับมือกับวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และเป็นการสนับสนุนทุกภาคส่วนเพิ่มศักยภาพสูงสุดในการได้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy Certificates (RECs) ในประเทศไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เกิดจากความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างเสถียรภาพด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่ประเทศไทยจะต้องดำเนินการภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการบรรลุเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส และจากการประชุม COP26 ที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตั้งเป้าหมายการเป็ นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) ตลอดจนประเทศไทยมีการเพิ่มเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 ได้มีการกำหนดเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions: NDC) 30% หรือ 166 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ 40% หรือ 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปีพ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยระดับการลดก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นถึง 40% ขึ้นอยู่กับการเข้าถึงกลไกการสนับสนุนทางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี การเงิน และการเสริมสร้างศักยภาพที่เพิ่มขึ้นและเพียงพอ
ปัจจุบันการพัฒนาโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ยังคงไม่เพียงพอ และมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีปริมาณการขึ้นทะเบียนเพียง 19 ล้าน RECs ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน รวมกับ Carbon Credits มาตรฐาน TVER ที่ 17 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่าก็เพียงแค่ 26.5 ล้านตัน
ทั้งนี้ ในปี 2562 พบว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 372 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นอันดับ 20 ของโลก โดยภาคพลังงานมีสัดส่วนการปล่อยมากถึง 70% ขณะที่สัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศมีเพียง 10% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด หากประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality จะต้องเพิ่มสัดส่วนให้เป็น 30% ภายในปี 2030 และมากกว่า 50% ก่อนปี 2040
จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่ามีความต้องการจากภาคธุรกิจและโรงงานอุตสกรรมที่ 134.7 ล้าน MWh โดย ถ้านำพลังงานสะอาดทั้ง Grid สามารถขึ้นทะเบียน RECs เพียงแค่ 28 ล้าน MWh โดย PPA ชุดใหม่ 5,000 กว่า MW RECs เป็นของภาครัฐ ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดมีความสำคัญต่อประเทศในเชิงของการดึงดูดการลงทุน (FDI) จากต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำของโลกที่มีการกำหนดเป้าไปแล้ว และยังมีการย้ายบริษัทไปต่างประเทศที่ตอบโจทย์ความต้องการเชิง RE ได้ รวมถึงการที่หลายบริษัทประกาศเป็น RE100 ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates) หรือ RECs เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยประเทศไทยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มขึ้นและการขยายจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากล กว่า 60 ประเทศทั่วโลก มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ยิ่งกว่านั้นเมื่อเทียบกับต้นทุนในการลดเอง ลงทุนสร้าง solar farm หรือกับคาร์บอน credit ถือว่ายังถูกกว่ามาก นอกจากนี้ยังใช้ง่าย และ claim ใน scope 2 ที่หาวิธีลดอยาก แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีความท้าทายมากกว่าประเทศอื่นในภาคตะวันออก ที่มีสัดส่วน RE มากถึง 70%, มีระบบไฟฟ้า ที่เปิดเสรี และมีการซื้อขายระหว่างเอกชน
ด้าน ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทยมีการวางเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไว้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีหลายเครื่องมือเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย อย่างพลังงานไฟฟ้ามีทั้งที่มาจากฟอสซิล และ RE จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่แยกได้ชัดเจนว่าเป็นไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทน เพื่อให้หน่วยงานบริษัทต่างๆสามารถนำไปใช้การขึ้นทะเบียนการลดก๊าซเรือนกระจกได้ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการบูรณาการประสานความร่วมมือเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมไปถึง RECs ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน scope 2
ส่วนความคืบหน้าการจัดทำร่าง คาด พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฉบับแรกของไทย ซึ่งมีทั้งหมด 14 หมวด โดยมี 3 หมวดสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกราคาคาร์บอน ได้แก่การจำกัดสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การคิดภาษีบนผลิตภัณฑ์ และการควบคุมคาร์บอนเครดิต ซึ่ง ขณะนี้ทั้ง 14 หมวดอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ รวมถึง กทม. และประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง ตลท. ก.ล.ต. เพื่อดูว่ากลไกที่ร่างขึ้นมานั้นเมื่อนำไปสู่การปฏิบัติจะใช้ได้จริง หรือไม่หรือมีข้อจำกัดใดบ้าง คาดว่าจะรับฟังครบทุกภาคส่วนในเดือนเมษายน และจะสรุปเสนอ ค.ร.ม.ได้ในช่วงกลางปีนี้ ยืนยันจะเร่งผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว คาดน่าจะได้เห็นในปี 2568.-516-สำนักข่าวไทย