กรุงเทพฯ 22 ก.พ.-ไบโอเทค เปิดบ้าน TBRC คลังจุลินทรีย์ชั้นนำระดับอาเซียน ที่มีมากเกือบ 1 แสนสายพันธุ์ ชี้เป็นต้นน้ำงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อตอบโจทย์วิจัย-อุตสาหกรรม หนุน BCG เศรษฐกิจฐานชีวภาพ
ดร.เกื้อกูล ปิยะจอมขวัญ รองผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทคจัดตั้งศูนย์จุลินทรีย์ตั้งแต่ปี 2539 จากนั้นพัฒนาเรื่อยมาจนเกิดเป็นศูนย์ชีววัสดุประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อเป็นศูนย์ชีววัสดุชั้นนำในอาเซียน หวังสร้างความร่วมมือระดับประเทศและนานาชาติด้านการวิจัยเกี่ยวกับชีววัสดุ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านการเก็บรักษาและบริหารจัดการชีววัสดุ ทำให้ TBRC มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางจัดการชีววัสดุของประเทศที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ดร.ชาญวิทย์ สุริยฉัตรกุล หัวหน้าทีมวิจัยความหลากหลายและการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์ ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC) ไบโอเทค กล่าวว่า TBRC มุ่งบริหารจัดการทรัพยากรจุลินทรีย์ ชีววัสดุ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เกิดการใช้ประโยชน์ โดยจุลินทรีย์และชีววัสดุที่เก็บรักษาประกอบด้วย แบคทีเรีย รา ยีสต์ ไวรัส และโปรโตซัว จำนวนมากเกือบ 1 แสนสายพันธุ์ พร้อมนำมาวิจัยต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ถือเป็นคลังชีววัสดุชั้นนำระดับภูมิภาคอาเซียน โดย TBRC มีบริการหลัก ได้แก่ รับฝากและให้บริการจุลินทรีย์และชีววัสดุ คัดแยกจุลินทรีย์ จำแนกชนิดจุลินทรีย์ วิเคราะห์ประชากรจุลินทรีย์ การเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์
รวมถึงให้การอบรบด้านการเก็บรักษาและจัดการคลังจุลินทรีย์ ซึ่ง TBRC มีระบบการเก็บรักษาจุลินทรีย์ตามมาตรฐานระดับสากล ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO 9001:2015 โดยมีการเก็บรักษาในสภาพแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -80 องศาเซลเซียส และในถังไนโตรเจนเหลว และการเก็บรักษาแบบแห้งในหลอดแก้วสุญญากาศ สามารถเก็บรักษาจุลินทรีย์ให้มีชีวิตรอดได้นานกว่า 20 ปี โดยผู้เชี่ยวชาญด้านจุลินทรีย์กลุ่มต่าง ๆ จะกำหนดขั้นตอน วิธีการจัดเก็บ วิธีการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อให้จุลินทรีย์ที่จัดเก็บและให้บริการมีความถูกต้อง รอดชีวิต และปราศจากการปนเปื้อน ซึ่งบริการเหล่านี้จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บริการไปยังกลุ่มนักวิจัย หน่วยงานวิจัย และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้านการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์และชีววัสดุ เพื่อตอบโจทย์งานวิจัยและความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ดร.สุภาวดี อิงศรีสว่าง นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยระบบจุลินทรีย์และชีวสารสนเทศ กล่าวเสริมว่า TBRC มีส่วนช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) บนโลกนี้ด้วย โดย TBRC ดูแลทรัพยากรจุลินทรีย์ในระดับสกุลมากกว่า 1,500 สกุล (genus) และระดับชนิดมากกว่า 4,300 ชนิด (species) รวมถึง TBRC ยังนับเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในด้านสนับสนุนการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมสุขภาพและยารักษาโรค อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับการใช้ประโยชน์คลังจุลินทรีย์ TBRC ที่ผ่านมา มีทั้งผู้ใช้บริการ คือนักวิจัยของไบโอเทค สวทช. และหน่วยงานภายนอก เช่น องค์กรรัฐและภาคเอกชน ตัวอย่างการศึกษาวิจัยที่ทำโดยนักวิจัยไบโอเทคเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น จุลินทรีย์ที่ผลิตเอนไซม์ที่ใช้ในอาหารสัตว์ อาทิ เชื้อราสายพันธุ์แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus spp.) หรือจุลินทรีย์สำหรับควบคุมศัตรูพืช อาทิ เชื้อราสายพันธุ์ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) ขณะที่หน่วยงานภายนอกมีการใช้บริการงานบริการเทคนิคต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น คัดแยกจุลินทรีย์ จำแนกชนิดจุลินทรีย์ อย่างไรก็ตาม สวทช. มีบริการที่จะช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์อย่างครบวงจร
หน่วยงานหรือผู้สนใจใช้ความรู้ความสามารถและเทคโนโลยีของ TBRC ในการตอบโจทย์ด้านจุลินทรีย์ รวมถึงหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือวิจัย สามารถติดต่อได้ที่ TBRC อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 ตึก B ชั้น 8 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี โทร. 0 2117 8000-1 อีเมล tbrcservice@biotec.or.th แฟนเพจ www.facebook.com/tbrcnetwork/ และเว็บไซต์ www.tbrcnetwork.org/.- 515-สำนักข่าวไทย