กรุงเทพฯ 2ส.ค.- พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ยังไม่ชี้ชัดพลังงานทดแทนตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) 20 ปีที่ปรับใหม่จะมีพลังงานทดแทนร้อยละ 40 ส่วนโรงไฟฟ้าสตึงมนัม ประเทศกัมพูชาจะสรุปเสร็จปลายปี 2560
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า กระทรวงฯ กำลังพิจารณาปรับแผนพีดีพีใหม่ จากแผนเดิมพีดีพี 2015 (ปี 2558-2579) ซึ่งคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอาจลดลง จากแผนประหยัดพลังงานและการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่พลังงานแสงอาทิตย์เข้าระบบ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ปี 2560 ลดต่ำกว่าปีที่แล้ว ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เมื่อสิ้นแผนปี 2579 อาจจะลดน้อยลงกว่าเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 70,335 เมกะวัตต์ (เพิ่มจากปี 2557 ที่ 37,612 เมกะวัตต์) อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงหลักยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยถ่านหินยังมีสัดส่วนร้อยละ 20-25 ก๊าซธรรมชาติ ประมาณร้อยละ 40 การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศร้อยละ 20 นิวเคลียร์ร้อยละ 0-5 ส่วนพลังงานทดแทนที่นายกรัฐมนตรีต้องการให้เพิ่มเป็นร้อยละ 40 จากแผนปัจจุบันร้อยละ 20 นั้น เรื่องนี้คงต้องดูเหตุผลประกอบทั้งหมด ว่า ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นหรือไม่ หากแพงขึ้น ก็อาจจะไม่ปรับสัดส่วนสูงขึ้น
พล.อ.อนันตพร ยังกล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากกัมพูชาว่าในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกงยังไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพีดีพี โดยอยู่ระหว่างการเจรจาของคณะทำงานรับซื้อไฟฟ้าระหว่างประเทศหากตกลงค่าไฟฟ้ากันได้ถึงจะบรรจุเข้าพีดีพีใหม่ ส่วนโรงไฟฟ้าโครงการสตึงมนัมนั้น ทาง 2 รัฐบาลลงนามลงนามในบันทึกความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างกันไปแล้ว และจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งไทยจะได้น้ำเข้ามาใช้ในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซีด้วย โดยกำลังผลิตไฟฟ้าได้ประมาณไม่ถึง 30 เมกะวัตต์ หรือไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของกำลังผลิตของไทย ดังนั้น หากค่าไฟฟ้าที่ขายแพงกว่า 10 บาทต่อหน่วยก็ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำ แต่ได้ประโยชน์ด้านน้ำ ซึ่งโครงการนี้จะสรุปภายในปลายปี 2560
ทั้งนี้ โครงการสตึงมนัม ทางรัฐบาลกัมพูชาแจ้งว่าได้ให้สิทธิ์บริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด (SMH) ในการดำเนินการ โดยพื้นที่ตั้งโครงการและการนำน้ำจากโครงการสตึงมนัมปริมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ยกเว้นฤดูฝน) มาใช้ประโยชน์ในอีอีซี ซึ่งกัมพูชามี 3 ข้อเสนอ คือ 1.ตั้งโรงไฟฟ้าฝั่งกัมพูชา ขนาด 24 เมกะวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 105.6 ล้านหน่วยต่อปี ราคาค่าไฟฟ้า 10.75 บาทต่อหน่วย(แยกเป็น มูลค่าไฟฟ้า 2.60 บาทต่อหน่วย และมูลค่าน้ำ 2.87 บาทต่อลูกบาศก์เมตร) 2.ตั้งโรงไฟฟ้าฝั่งไทย ขนาด 28 เมกะวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 115 ล้านหน่วยต่อปี ราคาค่าไฟฟ้า 13.50 บาทต่อหน่วย มูลค่าไฟฟ้า 2.60 บาทต่อหน่วย และมูลค่าน้ำ 4.18 บาทต่อลูกบาศก์เมตร และ 3.ตั้งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 ฝั่ง ขนาดรวม 52 เมกะวัตต์ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 220 ล้านหน่วยต่อปี ราคาค่าไฟฟ้า 8.50 บาทต่อหน่วย มูลค่าไฟฟ้า 2.60 บาทต่อหน่วย และมูลค่าน้ำ 4.33 บาทต่อลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 กระทรวงพลังงานได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชา โดยเสนอทางเลือกที่ 1 ซึ่งโรงไฟฟ้าอยู่ฝั่งกัมพูชาและทางกัมพูชาจะไม่คิดค่าน้ำ รวมทั้งมอบหมายให้ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สามารถร่วมพัฒนาโครงการกับบริษัท Steung Meteuk Hydropower Co., Ltd. (SMH) อย่างไรก็ตาม ทางกัมพูชายังไม่ตอบว่าจะเลือกแนวทางใด. -สำนักข่าวไทย