กรุงเพทฯ 6 ก.พ. – ปตท.สผ.พร้อมสานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม หากไทย-กัมพูชา เจรจาสำเร็จ เดินหน้าพื้นที่ทับซ้อน ส่วนโครงการ CCS รอความชัดเจนภาครัฐกำหนดหลักเกณฑ์สนับสนุน
ในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ. ) พล.อ.ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาไทย เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี หนึ่งในประเด็นหารือคือ พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (overlapping claims areas –OCA) โดยเรื่องนี้ เจรจากันมา 7 รัฐบาล รวมเป็นระยะเวลากว่า 22 ปี ยังไม่จบ นับตั้งแต่ที่มีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 โดยพื้นที่ทับซ้อนมีเนื้อที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ประเด็นที่ต้องมีการเจรจา 2 พื้นที่ด้วยกัน ได้แก่ 1.พื้นที่เหนือเส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือขึ้นไป ต้องหาข้อสรุปเขตแดนทางทะเล 10,000 ตารางกิโลเมตร ให้ชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ 2.พื้นที่ใต้เส้นละติจูดที่ 11 องศาเหนือลงมา พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีเป้าหมายทำความตกลงพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน (Joint Development Area : JDA) ในลักษณะที่คล้ายกับที่ไทยทำ JDA ร่วมกับมาเลเซีย
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า การเจรจา OCA รอบใหม่เป็นเรื่องที่ดี เพื่อพัฒนาและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องหาวิธีตกลงกันให้ได้ โดยไม่ต้องแบ่งเส้นเขตแดน แต่หวังว่าจะมีการพัฒนาร่วมกัน หากตกลงกันได้ก็ขึ้นกับภาครัฐว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ ทั้งด้านนำปิโตรเลียมมาผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
“ปตท.สผ. พร้อมดำเนินการสำรวจและผลิต เนื่องจากมีแหล่งผลิตที่อยู่ใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว คือ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช แต่ทั้งนี้พื้นที่ทับซ้อนฯ ยังไม่มีการสำรวจ ที่ผ่านมาเป็นการคาดเดา ว่าจะมีศักยภาพ เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับแหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช ซึ่งหากตกลงกันได้และเปิดให้สำรวจ หลังจากนั้น ก็คาดว่าจะมี First GAS ได้ภายใน 5 ปี จากเดิมต้องใช้เวลานานถึง9 ปี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้นจึงสามารถดำเนินการสำรวจและผลิตได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้ง 2 ประเทศ” นายมนตรี กล่าว
ส่วนโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ปัจจุบันมีกำลังผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 450 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะเร่งผลิตเพิ่มเป็น 550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนมีนาคมนี้ และจะเร่งเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ให้ได้ภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม
ขณะที่แปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ปัจจุบันนี้มีกำลังผลิตอยู่ที่ 840 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าปริมาณ ที่จะต้องส่งมอบตามสัญญาให้แก่ผู้ซื้อในแต่ละวัน (DCQ) ที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่งอาทิตย์ยังรักษาการผลิตอยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าสัญญา DCQ ที่ 290 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง ปตท.สผ.อยู่ระหว่างเจรจากับ ปตท. และรัฐเพื่อขอปรับเพิ่มปริมาณซื้อขายเป็น 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ และยังจะช่วยให้ราคา Pool GAS ถูกลงด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นห่วงคือแหล่งผลิตปิโตรเลียมไพลิน ที่บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานลงในปี พ.ศ.2571 (ค.ศ.2028) หากยังไม่ชัดเจนเรื่อง ไม่ได้ขยายอายุสัมปานออกไปอีก 10 ปี ถึงปี พ.ศ.2581 (ค.ศ.2038) หรือมีความล่าช้าในการพิจาณาก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯที่จะลดลงจากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็อาจจะเกิดปัญหาซ้ำรอยแหล่งเอราวัณ ที่เข้าพื้นที่ผลิตล่าช้าและทำให้ก๊าซฯขาดแคลน กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้า
ส่วนความคืบหน้าโครงการ CCS Hub ทางตอนเหนือของอ่าวไทย เป็นพื้นที่เปิดไม่ได้เป็นพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม นับเป็นความร่วมมือระดับประเทศของหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และ Japan Organization for Metals and Energy Security (JOGMEC) ประเทศญี่ปุ่น และ ปตท.สผ. เพื่อช่วยสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) นั้น เบื้องต้นพบว่ามีโครงสร้างทางธรณีวิทยา ที่น่าจะสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ เป็น CO2 ได้ โดยกรมเชื้อเพลิงก็ได้ร่วมกับหน่วยงานของประเทศญี่ปุ่น และมอบหมายให้ ปตท.สผ. และบริษัทจากทางญี่ปุ่นร่วมศึกษา และวางแผนสำรวจว่าพื้นที่ดังกล่าวมีโครงสร้างชั้นหินใต้ทะเลเหมาะสมสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้หรือไม่ ส่วนโครงการนำร่อง ที่จะเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปเก็บในหลุมขุดเจาะเก่าของแหล่งอาทิตย์ ปริมาณ 1ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ก็ยังติดปัญหาเรื่องภาระผูกพันและเรื่องของผลตอบแทนที่ทาง ปตท.สผ.จะได้รับ โดยทั้ง 2 เรื่องนี้ ภาครัฐก็จะต้องเร่งสร้างความชัดเจนในหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการลงทุนต่อไป. -517- สำนักข่าวไทย