กรุงเทพฯ 2 ก.พ.-ก.พลังงานห่วงปัญหาสภาพคล่องเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ล่าสุดอุดหนุนดีเซล เกือบ 5 บาทต่อลิตร ในขณะที่คลังลดภาษีเพียง 1บาทต่อลิตร เจรจาขอลดภาษีเพิ่ม 2 บาท หากรัฐบาลเดินหน้าดูแลดีเซล 30 บาทต่อเนื่อง
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ในขณะนี้ได้นำเสนอฐานะการเงินและแนวโน้มการบริหารสภาพคล่องแก่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เพื่อหาแนวทางดำเนินการ โดยอนุกรรมการบริหารสภาพคล่อง ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานได้อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมหาแนวทางป้องกันแก้ปัญหา โดยภาระกองทุนฯ ดูแลทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ในราคาไม่เกิน 423 บาท/ถังขนาด 15 กก. การดูแลกลุ่มเบนซิน และดูแลดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร
ในขณะที่ราคาตลาดโลกอยู่ในระดับสูงเพราะได้รับผลกระทบจากปัยหาความไม่สงบในหลายพื้นที่ทั้งตะวันออกกลางและ รัสเซีย-ยูเครน ทำให้เงินไหลออกจากกองทุนฯวันละกว่า 200 ล้านบาทหรือราว กว่า 7 พันล้านบาท/เดือน ส่วนใหญ่เป็นการดูแลดีเซลที่มียอดใช้สูงราว 68-70 ล้านลิตร/วัน โดยฐานะกองทุนฯ ณ วันที่ 28 มกราคม 2567 ติดลบ 84,349 ล้านบาท มีภาระเงินกู้ 1.1 แสนล้านบาท (เบิกมาใช้เสริมสภาพคล่องแล้ว 7.5 หมื่นล้านบาท ) โดยในส่วนเงินกู้ ขณะนี้จ่ายเพียงดอกเบี้ยราว 150 ล้านบาท/เดือน และจะเริ่มทยอยใช้หนี้เงินต้นในเดือน พ.ย. 67
นายวิศักดิ์กล่าวว่า ภาพรวมหากไม่เตรียมการไว้ล่วงหน้า กองทุนฯจะมีปัญหาสภาพคล่อง จึงนำเสนอต่อฝ่ายนโยบายว่าจะวางแนวทางอย่างไร โดยเฉพาะการดูแลน้ำมันกลุ่มดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันหลักที่ประชาชนใช้ในการขนส่ง การทำเกษตรและอื่นๆ โดย ตาม มติกบน. 28 ธ.ค.66 มีมติเห็นชอบให้ใช้กลไก กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าช่วยอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร เป็นเวลา3 เดือน ตั้ง 1 ม.ค. – 31 มี.ค.67 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี 19 ธ.ค.66 เป็นการตรึงค่าครองชีพให้ประชาชนต่อเนื่องภายหลังจากมาตรการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซล 2.50 บาท ซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และมีการ ลดภาษีดีเซลรอบใหม่เพียง 1 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ 20 ม.ค.-19 เม.ย.67
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ภาษีน้ำมันและกองทุนน้ำมันฯ ก็เหมือนกระเป๋าซ้าย-ขวา ในการดูแลค่าครองชีพประชาชน โดยในส่วนของดีเซล ในขณะนี้ กองทุนฯต้องเข้ามาอุดหนุนเกือบ 5 บาท/ลิตร แต่ภาษีลดเพียง1บาท/ลิตร ดังนั้น อยู่ในระหว่างการหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ว่าจะดูแลร่วมกันต่ออย่างไร โดยในอดีตที่ผ่านมา จะมีแนวทางดูแลคือ 1.กลไกภาษี ซึ่งหากจะใช้เกณฑ์ราคา 30 บาทต่อไป ก็อาจจะขอให้ลดภาษีเพิ่ม ราว 2 บาท/ลิตร 2 หากไม่ลดภาษี ในขณะที่เงินกองทุนฯจะมีปัญหาสภาพคล่อง แนวทางทบทวนทยอยขยับราคาดีเซลจาก 30 บาท ไปสู่ระดับดูแลที่ สูง ขึ้น เช่น 32 บาท/ลิตรจะดำเนินการได้หรือไม่ โดยจะเร่งสรุปแนวทางเพื่อสำเสนอนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาต่อไป โดยที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ ได้เน้นย้ำตลอดให้ร่วมดูแลค่าครองชีพประชาชน.-511-สำนักข่าวไทย