กรุงเทพฯ 9 ม.ค.-ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุจากความผันผวนที่คาดการณ์ได้ยากในปี 67 นี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก โดยกลุ่ม SME ส่งออกไทยยังมีความจำเป็นเสริมสภาพคล่องมาก ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันควรมีมาตรการ Soft Loan เพื่อให้ส่งออกไทยสามารถเดินหน้าดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนพฤศจิกายน 66 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,479.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 847,486 ล้านบาท หดตัว 0.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว 4.0%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.1% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 944,873 ล้านบาท ขยายตัว 4.8% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 66 ขาดดุลเท่ากับ 2,399.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 97,387 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายนของปี 66 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 261,770.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 1.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,013,184 ล้านบาท หดตัว 1.8% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงมกราคม – พฤศจิกายน หดตัว 0.5%) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 267,935.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 3.8% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 9,341,112 ล้านบาท หดตัว 4.3% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 66 ขาดดุลเท่ากับ 6,165.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 327,928 ล้านบาท
ทั้งนี้ สรท. คาดการณ์เป้าหมายการทำงานด้านการส่งออกรวมทั้งปี 2566 หดตัวที่ร้อยละ -1 ขณะที่ปี 67 คาดการณ์ส่งออกของไทยเติบโตที่ร้อยละ 1-2 (ณ เดือนมกราคม 67) โดยมีปัจจัยเฝ้าระวังที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย โดยค่าเงินบาทเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 34-35 บาท เฝ้าติดตามสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง คาดการณ์ว่า FED อาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 1/2567 2) อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง แต่เริ่มมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในบางประเทศแล้วจากสภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มผ่อนคลายลง
3) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตในทะเลแดง (Red sea) บริเวณช่องแคบบับ อัล-มันเดบ (Bab el-Mandeb Strait) ซึ่งเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าหลักไปทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง ส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้นและใช้ระยะเวลาการขนส่งสินค้านานขึ้น 4) ดัชนีภาคการผลิต (PMI) ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ณ ระดับ 47.9 44.4 และ47.9 ตามลำดับ และ 5) ความกังวลเรื่องต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน อาทิ ค่าไฟฟ้า (ธันวาคม 2566 ที่ 3.99 บาท กรอบใหม่ 4.68 บาท) และค่าแรงขั้นต่ำ (ครม. ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2-16 บาท) ค่าระวางเรือเส้นทางยุโรปเริ่มปรับตัวสูงขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ประกอบด้วย 1) จากวิกฤตสถานการณ์ทะเลแดง ภาครัฐและเอกชนต้องบริหารจัดการการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลร่วมกัน โดยขอให้นำเรือใหญ่เข้ามาขนถ่ายสินค้าในไทยมากขึ้น สนับสนุนกิจกรรม Transshipment และยกระดับท่าเรือสงขลาโดยการขุดลอกร่องน้ำลึก ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนทางอ้อมและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ 2) เพื่อให้การส่งออกปี 2567 อยู่ในทิศทางที่สามารถเติบโตได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการโดยตรง อาทิ ต้นทุนพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าจ้างขั้นต่ำ อัตราดอกเบี้ย ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันควรมีมาตรการ Soft Loan เพื่อเสริมสภาพคล่องโดยเฉพาะกลุ่ม SME จากความผันผวนที่คาดการณ์ได้ยาก และ 3) สนับสนุนงบประมาณในการเปิดตลาดศักยภาพใหม่ ในปี 2567 รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย.-514-สำนักข่าวไทย