กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. –แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ผ่ายหลายมาตรการ ดึงแบงก์รัฐร่วมแก้ไขหนี้ ปันงบชดเชยหนี้เสียจากโควิด-19 พักชำระเงินต้น 1 ปี ลดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ดึงสหกรณ์ช่วยสางหนี้ครู ตำรวจ
นายพรชัย ฐีระเวช โฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากนายกรัฐมนตรี แถลงความร่วมมือ ให้ทุกหน่วยงานร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งระบบ ครอบคลุมทุกกลุ่ม ประกอบด้วย
1. แนวทางแก้ไขหนี้ในระบบ ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท โดยแบ่งการช่วยเหลือตามคุณลักษณะและปัญหาของลูกหนี้ของลูกหนี้ ได้แก่ 1.1 กลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลายเป็นหนี้เสียและมีประวัติค้างอยู่ในเครดิตบูโร ทำให้ขอสินเชื่อยากขึ้น จะได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการ ดังนี้
1) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 จากสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ของธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. ให้ติดตาม ลูกหนี้ NPLs รหัส 21 ตามสมควร โดยนำงบประมาณชดเชยความเสียหายจากรัฐบาล มาช่วยเหลือ ลูกหนี้ไม่ให้เป็น NPLs หรือปลดภาระหนี้
2) มาตรการช่วยเหลือพักหนี้ผู้ประกอบเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 โดยแบงก์รัฐ ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs อย่างน้อย 3 เดือน ลูกหนี้จะได้รับการพักชำระต้นเงินไม่เกิน 1 ปี โดยลูกหนี้ยังคงชำระดอกเบี้ย และได้ลดดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี
1.2 กลุ่มที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้ล้นตัว เช่น ครู บุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร เป็นต้น ได้รับความช่วยเหลือ ดังนี้ 1) โครงการสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐ โดยธนาคารออมสิน จะปล่อยกู้เติมสภาพคล่องให้แก่สหกรณ์ เพื่อนำไปปล่อยกู้คิดดอกเบี้ยพิเศษ และ Refinance หนี้จากธนาคารออมสินไปรวมหนี้เป็นหนี้สหกรณ์ ระยะเวลากู้ไม่เกิน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 2 ปี 2) โครงการสินเชื่อสวัสดิการข้าราชการและบุคลากรภาครัฐคิดดอกเบี้ยพิเศษ โดยให้หน่วยงานรัฐ เงินฝากกับธนาคารออมสิน และข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเปิดบัญชีเงินเดือนกับธนาคารออมสิน เพื่อขอกู้สวัสดิการอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
3) กลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยและเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมด ได้ร่วมกันช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี ช่วยลดดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 เหลือเพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น 4) การช่วยเหลือให้มีรายได้คงเหลือเพียงพอดำรงชีพ โดยผลักดันให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์หรือระเบียบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของข้าราชการในสังกัด โดยต้องมีเงินเดือนคงเหลือในบัญชีอย่างน้อยร้อยละ 30 เพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพในแต่ละเดือน
1.3 กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอนทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดย กยศ. เป็นต้น จะได้รับความช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ ดังนี้ 1) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยลูกหนี้เกษตรกรที่มีต้นเงิน (Principle) รวมเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาพักชำระหนี้ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยปัจจุบันมีลูกหนี้เกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการจำนวน 1,588,903 ราย
2) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เช่าซื้อและลูกหนี้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยกระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ ธปท. จะมีอำนาจกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ เช่น ให้ผู้ประกอบธุรกิจประกาศข้อมูลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนลด และค่าบริการ แจ้งและแสดงวิธีการและรายละเอียดในการคำนวณอัตราค่าบริการรายปี จัดทำบัญชี กำหนดเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการออกกฎหมาย
3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ กยศ. โดย กยศ. ได้ช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้หรือแปลงหนี้ ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินเพิ่ม (เบี้ยปรับ) การยกเลิกผู้ค้ำประกันการกู้ยืม เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยศ. อยู่ระหว่างคำนวณเงินผ่อนชำระของลูกหนี้ กยศ. ตามกฎหมายใหม่ หากลูกหนี้ พบว่าได้ผ่อนชำระหนี้เอาไว้เกินจาก การคำนวณใหม่แล้ว ถือว่าสามารถปิดบัญชีได้
1.4 กลุ่มลูกหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน โดยมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โดยบริษัทร่วมทุนระหว่าง SFIs และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) (Joint Venture Asset Management Company: JV AMC) โดย ธปท. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและ SFIs เพื่อให้สามารถช่วยเหลือปิดจบหนี้ให้กับลูกหนี้ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
2. แนวทางแก้ไขหนี้นอกระบบ ตามที่รัฐบาลได้กำหนดให้มีโครงการลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อให้ลูกหนี้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยนั้น กระทรวงการคลังจึงมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้แก่
2.1 มาตรการช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาลด้วยมาตรการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้นอกระบบ โดยธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อวงเงินวงเงินสินเชื่อให้ลูกหนี้นอกระบบที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล รายไม่เกินรายละ 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือน (Flat Rate) ปลอดชำระหนี้เงินต้นสูงสุด 6 งวดแรก (ชำระดอกเบี้ยปกติ) หรือเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด ระยะเวลาชำระคืนเงินงวดสูงสุดไม่เกิน 3 ปี
2.2 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบที่ดำเนินการโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ประกอบด้วย 1) โครงการสินเชื่อธนาคารประชาชนเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ร้อยละ 0.75 ต่อเดือน ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 5 ปี หรือ 60 งวด พร้อมผ่อนปรนเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ 2) สินเชื่อเพื่อชำระหนี้สินนอกระบบ โดย ธ.ก.ส. วงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 200,000 บาท กรณีสงวนรักษาที่ดินวงเงินสินเชื่อรายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น Minimum Retail Rate (MRR) ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 12 ปี
3) สินเชื่อกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสงวนรักษาที่ดินจากการจำนอง ขายฝาก หรือใช้ที่ดินเป็นประกัน วงเงินสูงสุด 2.5 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี และลดลงในปีต่อไป ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 20 ปี และ 4) บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เพื่อให้บริการขายฝากหรือให้สินเชื่อจดจำนองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยมีอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี และปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน
2.3 สนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบด้วยมาตรการสนับสนุนให้เจ้าหนี้นอกระบบขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลังเพื่อประกอบธุรกิจตามกฎหมาย
3. การปรับโครงสร้างระบบการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อควบคู่กับการแก้ไขหนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อและได้รับความเป็นธรรมในการจัดการบริหารปัญหาหนี้สินของตนเองอย่างยั่งยืน โดยมีแนวทาง ดังนี้ 1) หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) และแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt: PD) โดย ธปท. และ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว 2) แนวทางการยกระดับการค้ำประกันสินเชื่อ โดยกระทรวงการคลังร่วมกับ ธปท. อยู่ระหว่างเสนอแนวทางดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น
3) การขยายขอบเขตข้อมูลเครดิตบูโรฯ โดยสนับสนุนให้สถาบันการเงินสามารถใช้ข้อมูลอื่น (Alternative Data) ประกอบการพิจารณาสินเชื่อได้ เช่น ประวัติชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ-ค่าไฟ ข้อมูลรายได้ เป็นต้น เพื่อให้สะท้อนความตั้งใจและความสามารถในการชำระสินเชื่อจริง และ 4) การสนับสนุนให้สหกรณ์ส่งข้อมูลให้แก่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau: NCB) และปรับปรุงหลักการบุริมสิทธิของสหกรณ์ในการตัดเงินเดือนหรือค่าจ้างเพื่อชำระหนี้ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และเหมาะสมกับต้นทุนทางการเงินของผู้ให้สินเชื่อแต่ละราย
นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จ และมีผลอย่างยั่งยืน หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงิน ตั้งแต่เยาวชนจนถึงวัยทำงาน และเพิ่มตัวช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ประชาชน เช่น สร้างคนให้คำแนะนำการแก้หนี้ (Debt Counsellor) คนไกล่เกลี่ยหนี้ (Debt Mediator) เป็นต้น เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง รวมทั้งการส่งเสริมวินัยการออม เช่น บริการ “ออมเพลิน” ซึ่งเป็นโครงการนำร่องให้ประชาชนสามารถสะสมเงินออมแบบอัตโนมัติในทุกครั้งที่ใช้จ่ายชำระค่าสินค้า เป็นต้น เพื่อลดการเป็นหนี้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีเงินออมที่เพียงพอหลังเกษียณอายุ
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงการปรับโครงสร้างระบบการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้ในระบบได้ประมาณ 10.3 ล้านราย และช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบได้ประมาณ 1.6 ล้านราย ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลคาดหวังว่า มาตรการต่าง ๆ จะช่วยแบ่งเบาภาระหรือตัดจบปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ช่วยให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในการจัดการบริหารปัญหาหนี้สิน และได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพและมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น.-515-สำนักข่าวไทย