กรุงเทพฯ 1 ธ.ค.- พฤกษา เปิดตัวผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซัน 2
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความสำเร็จของโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซันแรกได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คนทั้งเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และการมีโซลูชันเชิงรุกเพื่อดูแลผู้สูงวัย ซึ่งผลตอบรับที่ดีจากซีซันแรกเป็นแรงผลักดันให้พฤกษาสานต่อและต้องการขยายผลไปสู่สังคมวงกว้างมากขึ้น จึงเกิดโครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซัน 2 ซึ่งมีเป้าหมายเฟ้นหาผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่จะมาร่วมกันยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นภายใต้แนวคิด “อยู่ดี มีสุข” ซึ่งโจทย์การแข่งขันปีนี้ยังคงเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นต่อโอกาสทางการงาน และได้เพิ่มความท้าทายใหม่ด้วยโจทย์การแข่งขันที่สร้างผลกระทบ เชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม
โครงการ Accelerate Impact with PRUKSA ซีซัน 2 ที่จัดขึ้นในปีนี้ได้การตอบรับเป็นอย่างดีมีผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 70 ทีม โดยได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากภาคธุรกิจอื่น ๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือก ได้ผู้ผ่านเข้ารอบ 4 ทีมได้แก่
1) ทีมแอ็กนอสเฮลท์ (Agnos Health) จากบริษัท แอ็กนอสเฮลท์ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยวิเคราะห์อาการของโรคและประเมินความเสี่ยง พร้อมบอกวิธีการรับมือ เพื่อช่วยลดภาระของแพทย์ในกรณีที่มีอาการป่วยเพียงเล็กน้อยและลดต้นทุนในการรักษาพยาบาล
2) ทีมฟาร์มแคร์ (PHARMCARE) จากบริษัท ฟาร์มแคร์ กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม “PHARMCARE” ตัวช่วยอัจฉริยะที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดี สามารถค้นหาและเข้าถึงร้านขายยาที่มีคุณภาพ โดยมีเภสัชกรที่มีความรู้ พร้อมให้คำแนะนำ และมีบริการด้านสุขภาพที่สามารถเช็กสุขภาพและวิเคราะห์โรคได้เบื้องต้น โดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
3) ทีมแล็บมูฟ (Labmove) จากบริษัท แล็บมูฟ จำกัด ผู้ให้บริการเจาะเลือดถึงที่พักอาศัยโดยนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อช่วยลดความหนาแน่นในโรงพยาบาล ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรอคิวเป็นเวลานาน เพิ่มความสะดวกสบายในการเจาะเลือด
4) ทีมวงศ์ไผ่ (WONGPHAI) จากบริษัท วงศ์ไผ่ จำกัด ธุรกิจที่ช่วยเหลือชุมชนที่ต้องการจัดการกับเศษไผ่เหลือทิ้ง และช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องดินเปรี้ยวในแปลงเกษตร โดยการผลิต KN Biochar จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างเศรษฐกิจในชุมชน
“ผู้ผ่านเข้ารอบทุกทีม ไม่เพียงจะได้รับเงินทุน 600,000 บาท แต่จะได้รับการบ่มเพาะด้วยหลักสูตรเข้มข้นในกิจกรรม Accelerate Impact เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา รวมถึงได้รับคำปรึกษาจากผู้บริหารและพนักงานพฤกษา และยังสามารถเข้าถึงเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็น สำหรับการพัฒนาธุรกิจตลอดระยะเวลาโครงการ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ทุกทีมได้นำเสนอแผนธุรกิจให้คณะกรรมการพิจารณาอีกครั้ง เพื่อรับเงินสนับสนุนเพิ่มจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์และอาจได้การพิจารณาคัดเลือกรับเงินลงทุนจากพฤกษาภายใต้ Corporate Venture Capital -นายอุเทน กล่าว -517- สำนักข่าวไทย