กรุงเทพฯ 30 พ.ย. – รมว.พลังงาน เตรียมกดค่าไฟปีใหม่ ไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วย จากมติ กกพ.ที่ 4.68 บาท/หน่วย ด้านเอกชนวอนขอราคาเดิม 3.99 บาท/หน่วย
จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้ปรับค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 69.07 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บของผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นั้น นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ราคาดังกล่าว ทางฝ่ายบริหาร กระทรวงพลังงาน ภายใต้การกำกับของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน กำลังพิจารณาให้ กกพ.ทบทวน จะเคาะอย่างไร ขอยืนยันว่าราคาขายไฟฟ้าจริงจะไม่ใช่ตัวเลขนี้ และประชาชนผู้ใช้ไฟจะไม่ต้องรับภาระ จนหน้ามืดอย่างแน่นอน
รมว.พลังงาน กำชับคณะทำงาน กกพ. ได้หาแนวทางลดภาระค่าไฟประชาชน ไม่ให้เจอแรงปะทะหลังปีใหม่ โดยจัดการราคาไว้ให้อยู่ที่ 4 บาทต้น ๆ และจะพยายามทำตัวเลขให้ลดลงได้มากที่สุด ซึ่งราคาใกล้เคียงความเป็นจริงที่กระทรวงจัดการได้ ราวๆ 4.20 บาท/หน่วย โดยใช้กลไกจัดการผสมผสาน หลายขั้นตอนกว่าการลดราคาค่าไฟปกติทั่วไป ไม่ได้ใช้แค่เรื่องประวิงหนี้การไฟฟ้าฝ่ายฟลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างเดียว ทั้งนี้ ขอย้ำว่านี่คือการบริหารลดค่าครองชีพระยะสั้นให้ประชาชนเท่านั้น ทางกระทรวงพลังงานยังยืนยันการแก้ไขเชิงโครงสร้าง ก๊าซธรรมชาติ ต้นตอของปัญหาราคาไฟฟ้า และสนับสนุนพลังงานไฟฟ้าสะอาดระยาวต่อไป
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อัตราค่าไฟฟ้าใหม่ที่ กกพ.ประกาศออกมาเป็นไปตามหน้าที่ของ กกพ. แต่เชื่อว่า ทางฝ่ายนโยบายจะไม่เลือกแนวทางที่ประกาศออกมาอย่างแน่นอน จะต้องไปปรับลดต้นทุนต่างๆ ตามที่ก่อนหน้านี้ทางฝ่ายเอกชนได้นำเสนอไปบ้างแล้วเช่น การจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้เหมาะสม ไม่ควรมีกลุ่มธุรกิจใดได้ประโยชน์มากกว่าประชาชน แนวทางการจ่ายหนี้ กฟผ. จึงต้องรอดูการตัดสินใจราคาสุดท้ายของฝ่ายนโยบายจะเคาะออกมาเท่าไร เบื้องต้นมองว่า ไม่ควรเกินกว่าราคาค่าไฟในงวดปัจจุบัน อยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาท โดยการพิจารณาปรับค่าเอฟทีในงวดดังกล่าว กกพ. คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และขณะเดียวกันต้องไม่กระทบต่อศักยภาพความมั่นคงในการบริการพลังงานของ กฟผ. โดยเป็นการปรับให้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น และคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.รับภาระไว้บางส่วน เพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องในการดำเนินงานและชำระคืนเงินกู้เท่าที่จำเป็น
สำหรับการขึ้นค่าเอฟทีดังกล่าว บอร์ด กกพ.ระบุเป็นไปตามต้นทุนเชื้อเพลิง และชำระหนี้ กฟผ.คงค้าง ที่รับภาระต้นทุนเชื้อเพลิง ให้ประชาชนไปก่อนหน้านี้ โดยมีการรับฟังความเห็น 3 แนวทาง และประชาชนส่วนใหญ่ เลือกแนวทางที่ 3 จึงออกมาเป็นมติดังกล่าว รับฟังความเห็น ตั้งแต่วันที่ 10-24 พฤศจิกายน 2566
กรณีที่ 1 (จ่ายคืนภาระต้นทุนค้างทั้งหมด) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 67 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทในงวดเดียว รวมเท่ากับ 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย ตามรายงานการคำนวณตามสูตรเอฟที
กรณีที่ 2 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 3 งวดๆ ละจำนวน 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.93 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 3 (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 2 ปี) แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 จำนวน 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อทยอยชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 95,777 ล้านบาทโดยแบ่งเป็น 6 งวดๆ ละจำนวน 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน ม.ค. – เม.ย. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย. -511-สำนักข่าวไทย