กรุงเทพฯ 29 พ.ย.-JKN แจ้ง ตลท.หากบริษัทไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทอาจต้องปิดกิจการ หุ้นจะไม่มีมูลค่า
นายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าบริษัทได้พยายามหาเงินมาชำระคืนหุ้นกู้ โดยเข้าเจรจากับนักลงทุน 3 กลุ่มเพื่อเพิ่มทุน ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน รวมถึงขายสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนและหาแนวทางการทำธุรกิจต่าง ๆ โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีการเจรจากับนักลงทุนต่าง ๆ ตลอดทั้งเดือน แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่จะหาเงินทุนมาชำระหุ้นกู้ได้ บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องยุติการเจรจาในวันที่ 30 ตุลาคม 2566
บริษัทฯ ขาดสภาพคล่องที่ จะชําระหนี้สิน จึงยื่นคําร้องขอฟื้นฟูกิจการ แม้ในงบการเงิน บริษัทฯ จะมี ทรัพย์สินพอควร แต่งบการเงินบริษัทมีทรัพย์สิน 67% เป็นทรัพย์สินไม่มีตัวตน ไม่สามารถแปลงมาเป็นเงินสดเพื่อชำระหนี้ได้ทันเวลา และในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ทาง KPMG ได้ร่วมกับบริษัทจัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปในการชำระคืนหนี้ และในการประชุมเห็นตรงกันว่า ผู้ถือหุ้นกู้มีแนวโน้ม ไม่ยอมรับการชำระคืนหนี้ยาวนานถึง 8 ปี ต้องการรับเงินคืนภายใน 3 ปี บริษัทเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ บริษัทจึงตัดสินใจยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางตามแผนที่ได้รับจากที่ปรึกษาทางการเงิน โดยไม่ได้แจ้งที่ปรึกษาทางการเงินก่อนที่จะยื่นคำร้องในวันที่ 8 พฤศจิกายน และบริษัทได้เข้าสู่สภาวะการพักชำระหนี้ทั้งหมด (Automatic Stay) ไปจนกว่าศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด และเป็นวิธีการแก้ปัญหาเพียงช่องทางเดียวที่บริษัทมีในเวลานั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อบริษัทและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และบริษัทได้ประเมินปัญหาและอุปสรรคที่อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผน ซึ่ง ต้องได้ความร่วมมือจากเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการชำระหนี้ร่วมกัน เพิ่มความสามารถในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจจากธุรกิจ Content ไปเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เตรียมไว้ และ การหาพันธมิตร นักลงทุน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายในประเทศ
สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการเป็นการประมาณการเบื้องต้น ภายใต้สมมติฐานที่ดีที่สุดและภายใต้กรณีที่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ปัญหาและอุปสรรคที่อาจทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้
1. ความร่วมมือจากเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับการชำระหนี้ร่วมกัน
2. ความสามารถในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนธุรกิจ จากธุรกิจ Content ไปเป็นธุรกิจใหม่ที่บริษัทได้เตรียมไว้
3. การหาพันธมิตร นักลงทุน ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน
4. สภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะภายในประเทศ
ผลที่อาจเกิดขึ้นหากบริษัทไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าแผนฟื้นฟูกิจการ
1. ด้วยปริมาณหุ้นกู้ทั้งหมด หากเจ้าหนี้ทุกรายเรียกร้องบริษัทให้ชำระหนี้คืน บริษัทจะไม่มีเงินสดเพียงพอในการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคู่ค้า และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. บริษัทอาจจะต้องปิดกิจการหรือถูกฟ้องร้องจนไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป และล้มละลาย อันจะทำให้ทุกฝ่ายเสียหายอย่างมาก
3. หุ้นของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่มีมูลค่า ทำให้นักลงทุนและผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
4. หากบริษัทต้องปิดดำเนินกิจการหรือไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จะส่งผลกระทบต่อพนักงานของบริษัททุกคน
ผลจากการยื่นคำร้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ
1. บริษัทยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 8 พ.ย.2566 และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ในวันที่ 9 พ.ย.2566 ทั้งนี้ ศาลได้นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 29 ม.ค.2567
2. บริษัทได้รับการคุ้มครองจากการเรียกร้องและฟ้องร้อง (Automatic Stay) จนถึงวันที่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทำให้บริษัทสามารถเตรียมแนวทางต่างๆ เพื่อวางแผนชำระหนี้ได้
3. บริษัทจะมีเวลาเพิ่มขึ้นในการเจรจากับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้
4. เจ้าหนี้ทุกรายได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรมทุกฝ่าย และบริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ ซึ่งทำให้บริษัทยังรักษาคนและธุรกิจ อีกทั้งยังมีเวลาในการปรับตัวและพูดคุยกับคู่ค้าและเจ้าหนี้การค้าเพื่อทําธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ผู้ทำแผนตามที่เสนอในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
บริษัทได้เสนอให้ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผน โดยอำนาจหน้าที่และสิทธิของผู้ทำแผนตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะตกแก่ผู้ทำแผนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน มีดังนี้
1. อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท
2. บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัท (ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล)
3. อำนาจในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท
การทำธุรกิจคอนเทนต์ (Content) มีความเฉพาะเจาะจงและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งบริษัทได้ดำเนินธุรกิจนี้มีผลกำไรมาโดยตลอด โดยเฉพาะการบริหารทรัพย์สินไม่มีตัวตน ทั้งการขายในประเทศและต่างประเทศ บริษัทจึงมีความพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำธุรกิจ
บริษัทขอยืนยันว่า บริษัทมีเจตนาที่ดีในการชำระหนี้สินให้แก่เจ้าหนี้ทุกฝ่าย โดยการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทจะช่วยให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม อีกทั้งบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อการแก้ไขปัญหาของบริษัท และเพื่อสร้างผลกำไรจากการดำเนินกิจการต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง
JKN ได้ออกหุ้นกู้จำนวน 7 ชุด มูลค่ารวม 3,360 ล้านบาท และจากปัญหาขาดสภาพคล่อง ทำให้หุ้นกู้รุ่น JKN239A ผิดนัดชำระหนี้ และถือเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้รุ่นอื่น ๆ ทั้ง 6 รุ่น นอกจากนี้ยังเป็นเหตุให้เกิดการผิดสัญญาหุ้นกู้แปลงสภาพและหนี้เงินกู้จากสถาบันการเงินด้วย บริษัทได้แต่งตั้ง บริษัท เคพีเอ็มจี ภูมิไชย ที่ปรึกษาธุรกิจ จำกัด (KPMG) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน.-511-สำนักข่าวไทย