กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงนโยบายและมาตรการเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จากภาคคมนาคมขนส่ง และการติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและลดมลพิษจากฝุ่น PM 2.5
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครได้บูรณาการร่วมกันในการเร่งรัดแก้ไขปัญหาและกำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายสุรพงษ์ฯ ดังนี้
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการตรวจควันดำและฝุ่น PM 2.5 เชิงรุก โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดตรวจการขนส่งทางบกเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ตรวจสอบค่า PM 2.5 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน และชุดเฉพาะกิจเข้าให้คำแนะนำเพื่อป้องกันการปล่อยควันดำของรถโดยสารไม่ประจำทาง ณ สถานประกอบการ โดย ขบ. จะบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานครจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ออกตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ณ สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ 233 แห่ง และสถานประกอบการ ได้แก่ แพลนท์ปูน บริเวณไซต์งานก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ อีกทั้ง ขบ. ได้จัดเจ้าหน้าที่กองตรวจการลงพื้นที่ตรวจสอบรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ณ อู่รถเมล์ ขสมก. ทั้ง 8 เขตการเดินรถ 21 แห่ง รวมถึงรถโดยสารประจำทาง ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร เอกมัย สายใต้)
กรมการขนส่งทางราง (ขร.) สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น ผ่านนโยบายอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง พร้อมผลักดันระบบขนส่งทางรางเปลี่ยนมาใช้รถไฟ EV on Train มาให้บริการประชาชนเพื่อลดมลภาวะทางอากาศ
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในบริเวณโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ประกอบด้วย 1) ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 2) ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3) ช่วงนครปฐม-ชุมพร 4) ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 5) ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด ให้ดำเนินมาตรการจำกัดพื้นที่การทิ้งและห้ามเผาขยะซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM 2.5 และติดรั้วป้องกันฝุ่นละออง
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินมาตรการลดฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า โดยได้กำชับและสั่งการให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทุกโครงการ ต้องติดตั้งรั้วสูง 2 เมตร ล้อมรอบพื้นที่ก่อสร้างและปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้าง/กระบะรถบรรทุกเพื่อป้องกันฝุ่นละออง พร้อมทั้งทำความสะอาดถนนสาธารณะก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดีไม่ให้มีควันดำหรือควันขาว
บริษัท ขนส่ง จํากัด (บขส.) ดำเนินมาตรการด้านรถโดยสาร 3 ด้าน ดังนี้ 1) การบริหารจัดการเกี่ยวกับรถโดยสาร โดยจัดให้มีการตรวจวัดควันดำรถโดยสารก่อนนำรถออกให้บริการประชาชน 2) การปรับลดเส้นทางเดินรถ และควบรวมเที่ยววิ่งรถโดยสาร เพื่อปรับลดจำนวนเส้นทางเดินรถโดยสารและเที่ยววิ่งรถ และ 3) จัดหารถโดยสาร EV ทดแทนรถโดยสารที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำรถ EV BUS เข้าวิ่งในระบบมากขึ้น
กรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการจำกัดพื้นที่หน้างานก่อสร้างและบำรุงทางที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อยที่สุด กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพเครื่องจักรก่อสร้างให้อยู่ในสภาพดี รวมทั้งงดใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วกับเครื่องจักรจัดการขยะอย่างเหมาะสมและห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินมาตรการลดปัญหาสภาพการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงที่ควบคุมการทำงาน ทั้งนี้ อยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำแรงดันสูงแบบควบคุม ณ ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ 28 แห่ง
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เข้มงวดในการตรวจวัดค่าควันดำรถโดยสารทุกคันทุกวัน หากมีค่าควันดำเกินมาตรฐานจะนำรถส่งเข้าซ่อมบำรุงโดยทันที
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีอัตราการใช้รถยนต์บนท้องถนน การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุในการเกิดมลพิษทางอากาศฝุ่น PM 2.5 โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทำแผนลดฝุ่น 365 วัน ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม.และแผนบริหารจัดการฝุ่นระยะวิกฤตที่มีค่าฝุ่น ตั้งแต่ 37.6 มคก./ลบ.ม. เพื่อการติดตามเฝ้าระวัง กำจัดต้นตอ ป้องกันประชาชน และการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบทุกมิติ พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับ ขบ. ออกตรวจสอบวัดค่าควันดำรถบรรทุก ณ สถานประกอบการ ได้แก่ แพลนท์ปูน บริเวณไซต์งานก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ โรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครพร้อมบูรณาการและติดตามผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนมาตรการและรายงานผลในทุกวันที่ 15 และ 30 ของเดือนมายังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป.- สำนักข่าวไทย