รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา 14 พ.ย.- IMF แจงเวทีรัฐมนตรีคลังเอเปค เศรษฐกิจโลกมีปัจจัยเสี่ยง หลังเฟดเพิ่มดอกเบี้ยนโยบาย จีดีพีโลกขยายตัวทร้อยละ 3 ในปี 66 ยกระดับตลาดคาร์บอนจริงจัง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 30 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (การประชุมฯ) มีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ กลุ่มธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ร่วมหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์อุปทานสมัยใหม่ การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสินทรัพย์ดิจิทัล ภายใต้หัวข้อหลัก (Theme) คือ “สร้างอนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและยั่งยืนสำหรับทุกคน”
IMF ได้รายงานว่าเศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตแต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงเล็กน้อย ในปี 2566 คาดว่า จีดีพีขยายตัวทร้อยละ 3 ต่อปี และร้อยละ 2.9 ในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลงจากปีก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ยังคงอยู่ในระดับสูง กลับมาสู่ในกรอบเป้าหมาย (targeted) ได้ภายในปี 2568 เศรษฐกิจโลกยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้สร้างความผันผวนต่อยังตลาดเงินทั่วโลก IMF มองปัจจัยเสี่ยง เศรษฐกิจจีนชะลอตัว จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการปรับลดของความเชื่อมั่นผู้บริโภค
สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคควรร่วมกันดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพด้านการเงิน ภาครัฐต้องหนุน การร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ โครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาด การสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนและผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ให้เกิดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องอันนำไปสู่การการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างเป็นระบบ กลุ่มเขตเศรษฐกิจ APEC ควรร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในระดับระหว่างประเทศ และแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานและการกำกับดูแลระหว่างกันเพื่อยกระดับตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของแต่ละเขตเศรษฐกิจให้ความเชื่อมโยงและมีมาตรฐานในระดับเดียวกัน
การหารือในประเด็นสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ที่ประชุมได้ตระหนักถึงพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ กลุ่มเขตเศรษฐกิจ APEC สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล๊อคเชนในการจัดทำสัญญาอัจฉริยะ สามารถทำด้วยตัวเอง การดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ทางการเงินที่เพียงพอแก่ผู้ประสงค์ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้นสมาชิกเขตเศรษฐกิจ APEC ควรร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม และเป็นนวัตกรรมโดยอาจเริ่มจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดำเนินการโดยธนาคารกลางเป็นลำดับแรก
ผลการหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม การระดมทุนจากภาคการเงิน การสร้างแรงจูงใจสำหรับนักลงทุน การกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการสีเขียว (Green Projects) ส่งเสริมมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกำหนดนิยามการลงทุนสีเขียว (Green Taxonomy) การกำหนดราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง สาธารณรัฐเปรูขอให้ไทยช่วยให้การสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพAPEC ของเปรูในปี 2567 โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวยินดีให้การสนับสนุน และขอบคุณเปรูที่ได้สืบต่อประเด็นสำคัญของไทยได้หยิบยกขึ้นในการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปี 2565 ได้แก่ การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เสนอให้ไทยและเปรูกระชับความร่วมมือระหว่างกันบนพื้นฐานของความตกลงการค้าเสรีไทย – เปรู โดยอาจพิจารณาขยายสาขาความร่วมมือไปยังภาคบริการ รวมถึงบริการด้านการเงินด้วย.-สำนักข่าวไทย