กรุงเทพฯ 13 พ.ย.- อธิบดีกรมปศุสัตว์ รับคำสั่ง รมว.ธรรมนัส และ รมช.ไชยา กำชับหน่วยงานทั่วประเทศเดินหน้าปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์เถื่อน ตามข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่เรียกรายงานสถานการณ์และกำชับให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับการกวาดล้าง “หมูเถื่อน” พร้อมกำหนดมาตรการรักษาเสถียรภาพราคา เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและคุ้มครองสุขอนามัยผู้บริโภค
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังหน่วยงานสังกัดกรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ เพื่อเน้นย้ำมาตรการปราบปรามการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ผิดกฎหมาย ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 โดยนายกรัฐมนตรีให้รายงานถึงสถานการณ์และความคืบหน้าในการปราบปรามการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน”
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์หรือที่สำแดงผิดประเภท โดยกำชับให้มีมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัดตามด่านศุลกากร และให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เร่งดำเนินคดีที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ
ในวันนี้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกหนังสือด่วนถึงที่สุดถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ เพื่อเน้นย้ำให้เข้มงวดในการตรวจสอบ กักกัน และดำเนินคดีกับสินค้าเกษตรเถื่อนผิดกฎหมาย ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะ “หมูเถื่อน” ซึ่งมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นหน่วยงานหลักในการจับกุมและดำเนินคดีสำหรับผู้ลักลอบนำเข้าสู่ราชอาณาจักร ร.อ.ธรรมนัส จึงให้หน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ และด่านนำเข้าทุกด่าน เข้มงวดในการตรวจสอบ กักกัน และดำเนินคดี หากมีการจับกุมผู้กระทำความผิดในพื้นที่ใดจากหน่วยงาน (ดีเอสไอ) จะถือว่านายด่านหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น มีความผิดในฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยจะถูกสอบสวนและถูกดำเนินคดีไปด้วย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ได้ย้ำให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศยกระดับปฏิบัติการตามมาตรการเข้มงวดของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยมีมาตรการหลักดังนี้
• จัดทำแผนการกวาดล้างการกระทำผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558
• จัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกรมปศุสัตว์ กองอำนวยรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด ร่วมดำเนินการตามแผนดำเนินงานในการกวาดล้างการกระทำผิดกฎหมายทั่วประเทศ รวมถึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอข้อมูลห้องเย็นในการเข้าไปตรวจสอบสินค้าปศุสัตว์เถื่อน
• เร่งดำเนินการตรวจสอบห้องเย็น โรงฆ่าสัตว์ สถานกักกันสัตว์ หรือที่พักซากสัตว์ทั่วประเทศ โดยสนธิกำลังร่วมกับทหาร ตำรวจ ศุลกากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หากพบผู้กระทำความผิดให้ดำเนินตามกฎหมายทันที โดยให้มีการรายงานผลการดำเนินงานทุกวัน
• สั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดน และช่องทางธรรมชาติ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เข้มงวดตรวจสอบขบวนการลักลอบขนสินค้าปศุสัตว์เถื่อนเข้าประเทศไทย เพื่อควบคุมความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาดสัตว์
• หากชุดเฉพาะกิจพิเศษจากส่วนกลาง เข้าตรวจสอบห้องเย็นและมีการจับกุมสินค้าปศุสัตว์ลักลอบนำเข้าในพื้นที่ใด ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอ หรือด่านกักกันสัตว์ในพื้นที่นั้นจะต้องชี้แจง และจะพิจารณาโทษทางปกครองหรือวินัยหรืออาญา ตามฐานความผิดที่เกิดขึ้นต่อไปด้วย
สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการควบคู่กับการปราบปรามสินค้าปศุสัตว์เถื่อน คือ การรักษาเสถียรภาพราคาของสินค้าปศุสัตว์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและการพัฒนาการเลี้ยงสุกรอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ประชุมกับผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ตัวแทนจากชมรมและสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทยไปแล้ว โดยการกำหนดแผนการปฏิบัติงานเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการเบื้องต้นดังนี้
1. การจัดทำโครงการเพื่อของบประมาณในการสนับสนุนการลดประชากรสุกรในวงจรการผลิต โดยนำลูกสุกรส่วนเกินไปผลิตหมูหัน เป้าหมาย 5,000 ตัวต่อสัปดาห์ กำหนดแผนการดำเนินงาน 450,000 ตัว ในระยะเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 180 ล้านบาท
2. การผลักดันการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสุกรไปยังต่างประเทศ โดยกรมปศุสัตว์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการหาตลาดเพื่อการส่งออก และหาแหล่งเงินทุนเพื่อจัดสรรงบประมาณสนับสนุนส่วนต่างราคา เพื่อเพิ่มช่องทางการระบายสินค้าและจัดการอุปทานส่วนเกินภายในประเทศ ตั้งเป้าหมายในการส่งออกสุกรแปรรูปจากสุกร 60,000 ตัว ภายใน 3 เดือน
3. การดำเนินการรวบรวมข้อมูลผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์มได้แล้ว 500 ราย ซึ่งจะรวบรวมต่อเนื่องให้ครบถ้วน โดยจะขอความร่วมมือผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์มให้ร่วมมือกันดำเนินการตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร ที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ให้ความเห็นชอบแล้ว
4. การเดินหน้าปราบปรามหมูเถื่อน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้รับข้อมูลห้องเย็นทั่วประเทศจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้ตั้งวอร์รูมขึ้นเพื่อกำกับและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานปศุสัตว์ทั่วประเทศตามแผนที่กำหนดไว้ โดยมอบหมายให้รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กำกับและติดตามการทำงานเป็นรายเขต ที่สำคัญคือ จะเร่งฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายกลางและรายย่อยให้กลับมาเลี้ยงใหม่ได้ และให้มีรายได้อย่างมั่นคง เป้าหมายสำคัญคือ ผู้เลี้ยงอยู่ได้ ไม่ขาดทุน และผู้บริโภคไม่เดือดร้อน ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคปศุสัตว์ไทยแข็งแกร่ง ตามภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์.-สำนักข่าวไทย