1 เดือน สงครามอิสราเอล-ฮามาสกระทบเศรษฐกิจโลกและไทยยังไม่มาก

นนทบุรี 7 พ.ย.-สนค.ประเมิน 1 เดือน สงครามอิสราเอล-ฮามาสกระทบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังไม่มาก แต่สถานการณ์ยังคงมีความไม่แน่นอน นับเป็นความเสี่ยงใหม่ของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าที่ต้องจับตาและประเมินผลกระทบในระยะยาว ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งประเด็นท้าทายและอกาสของไทยด้วย


นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 7 ต.ค. 66 ถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดของทั้ง 2 ฝ่ายในรอบ 50 ปี โดยเริ่มจากปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มฮามาสในชื่อ Al Aqsa Flood ทำการยิงขีปนาวุธโจมตีเป้าหมายทางทหารของอิสราเอล และส่งกองกำลังติดอาวุธเข้าไปโจมตีหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล จนทำให้อิสราเอลประกาศเข้าสู่ภาวะสงครามและเริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้อย่างรุนแรงในพื้นที่ฉนวนกาซา

สงครามดังกล่าวดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง แต่ปฏิบัติการของอิสราเอลกลับยกระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นที่ 2 ซึ่งเน้นปฏิบัติการภาคพื้นดิน เพื่อกวาดล้างฐานที่มั่นของกลุ่มฮามาสสร้างความสูญเสียด้านมนุษยธรรมไปแล้วมหาศาล จนนำไปสู่การแสดงท่าทีต่อต้านของนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาหรับที่สะท้อนความเปราะบางของความสัมพันธ์ของประเทศต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง จนทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าสงครามครั้งนี้อาจลุกลามบานปลายไปเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาค เพราะในเวลาเดียวกันนี้ ก็ปะทะกันบริเวณพรมแดนอิสราเอลที่ติดกับซีเรียและเลบานอนจากลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่านด้วย ซึ่งหากสงครามลุกลามบานปลายจริงก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน เพราะบริเวณพื้นที่ความขัดแย้งนี้ใกล้กับแหล่งพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเส้นทางการขนส่งที่สำคัญของโลกสงครามอิสราเอล-ฮามาสไม่ได้ส่งผลกระทบรวดเร็วและรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกเหมือนกับสงครามรัสเซียยูเครนที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน เป็นเพราะอิสราเอลและปาเลสไตน์ไม่ได้มีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก โดยจนถึงขณะนี้ผลกระทบของความขัดแย้งต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกยังมีจำกัด ราคาน้ำมัน


โดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 6% ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร โลหะส่วนใหญ่ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ แทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจากการประเมินของธนาคารโลก  หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปในลักษณะนี้ ราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ส่งสัญญาณยืดเยื้อทำให้หลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างกังวลถึงกระทบในระยะต่อไป กรณีที่พันธมิตรของทั้งสองฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น 

ทั้งนี้ Bloomberg Economics  ประเมินฉากทัศน์ของสงครามในครั้งนี้ออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ (1) สงครามจำกัดวง(Confine war) การสู้รบจำกัดอยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์ ความกังวลต่อตลาดโลก อาจทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจโลกจะน้อยมาก (GDP โลกลดลงเพียง 0.1%) (2) สงครามตัวแทน (Proxy war) ความขัดแย้งลุกลามไปยังประเทศข้างเคียง คือซีเรียและเลบานอน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองกำลังติดอาวุธที่สนับสนุนโดยอิหร่าน ทำให้ความขัดแย้งกลายเป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มฮามาส ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในหลายประเทศในภูมิภาค กรณีนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือ 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้เติบโตลดลง 0.3% และทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2% และ (3) สงครามทางตรง (Direct war) สงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน (ร่วมด้วยชาติอาหรับอื่น ๆ) อาจมีการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันในภูมิภาค การปิดช่องแคบฮอร์มุซของอิหร่าน ซึ่งเป็นช่องทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญ และอาจเกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ ที่สนับสนุนอิสราเอล กับจีนและรัสเซียที่พยายามสร้างความสัมพันธ์กับอิหร่าน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือสูงถึงระดับ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตลดลง 1% และอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น 1.2%

อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มองว่าสงครามในครั้งนี้อาจยืดเยื้อ โดยน่าจะคาบเกี่ยวในกรณีสงครามจำกัดวงและกรณีสงครามตัวแทน แต่มีโอกาสน้อยที่จะยกระดับความรุนแรงไปจนถึงกรณีที่เกิดสงครามโดยตรงระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแต่ละประเทศต่างก็อยู่ในภาวะอ่อนแอจากวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้ไม่น่าจะต้องการเข้าสู่ภาวะสงคราม นอกจากนี้ ท่าทีของสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปที่แม้จะสนับสนุนอิสราเอลในการโจมตีฮามาสเพื่อป้องกันตัวเอง แต่ก็พยายามหารือผู้นำหลายชาติอาหรับที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง และให้ความสำคัญกับการคุ้มครองพลเรือนชาวปาเลสไตน์ขณะเดียวกันท่าทีของประเทศตะวันออกกลางในกลุ่มประเทศ OPEC ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันหลักของโลก ก็ไม่ได้มีแนวโน้มออกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันไปยังประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสงครามอาหรับ-อิสราเอล หรือสงครามยมคิปปูร์ในปี ค.ศ. 1973


สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยจากความขัดแย้งในครั้งนี้ต้องพิจารณาเป็นฉากทัศน์เช่นกัน ซึ่งกรณีที่สงครามไม่ขยายวงหรือไม่ยกระดับความรุนแรงจากระดับปัจจุบันมากนัก  ผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับอิสราเอลและระหว่างไทยกับปาเลสไตน์ รวมกันอยู่ในระดับต่ำ เพียงประมาณ 0.2% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศโดยรวมของไทย โดยขณะนี้ด้านการขนส่งสินค้าเข้า-ออกจากอิสราเอลก็ยังไม่กระทบมาก เนื่องจากท่าเรือส่วนใหญ่ของอิสราเอลยังเปิดดำเนินการตามปกติ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเพียงประมาณ 1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดรวมทั้งด้านการลงทุนก็ไม่มีการลงทุนโดยตรงจากทั้ง 2 ประเทศคู่ขัดแย้ง ขณะที่ผลกระทบทางอ้อมต่อการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเงินเฟ้อ ณ ขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นผลกระทบดังกล่าวชัดเจนเช่นกัน เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงแรกของสงครามนั้น ก็ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดในเดือน ก.ย. 66 

รวมทั้งค่าเงินบาทก็ผันผวนและอ่อนค่าลงในช่วงแรกตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐและทองคำ เนื่องจากปัจจัยด้านจิตวิทยาที่กังวลผลกระทบของสงครามเท่านั้น ดังนั้น จากการประเมินทิศทางสงครามและผลกระทบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจึงน่าจะเชื่อได้ว่า กรณีที่การสู้รบยังดำเนินต่อไปแบบจำกัดวงอยู่ในฉนวนกาซาและบริเวณพรมแดนอิสราเอลกับซีเรียและเลบานอนนั้น ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ หรือส่งผลกระทบสืบเนื่องจนสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวมมากนัก

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่ยังน่าเป็นห่วง คือ ประเด็นด้านแรงงาน เนื่องจากอิสราเอลเป็นประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากไต้หวัน โดยแรงงานจำนวนกว่า 26,000 คน  ที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลอาจได้รับผลกระทบจากสงครามและว่างงานลงอย่างฉับพลัน ซึ่งประเด็นนี้ภาครัฐอาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือรองรับที่เหมาะสม นอกจากนี้ หากสงครามยกระดับรุนแรงในพื้นที่อิสราเอล หรือประเทศรอบ ๆ อิสราเอล จนทำให้ภาคการผลิต การขนส่งเกิดการหยุดชะงัก และนำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ก็อาจทำให้การส่งออกสินค้าบางรายการที่มีอิสราเอลเป็นตลาดส่งออกสำคัญส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบอยู่บ้าง อาทิ เครื่องประดับ (เพชร) ไฟเบอร์บอร์ด ทูน่ากระป๋อง และรถยนต์รถยนต์นั่ง รวมทั้งสินค้านำเข้า อาทิ เพชร และปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ที่ไทยนำเข้าจำนวนมากจากอิสราเอล 

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องเริ่มมองหาตลาดส่งออกหรือแหล่งนำเข้าอื่น ๆ ทดแทนให้มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น หากสงครามขยายวงไปสู่ระดับภูมิภาค ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมน่าจะรุนแรงพอสมควร เพราะกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นทั้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ และเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญของไทยหลายรายการ ดังนั้นจึงต้องติดตามพัฒนาการของสงครามอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมมาตรการรองรับได้อย่างทันท่วงที

โดยสรุป ในระยะสั้นช่วง 1 เดือนหลังเกิดสงครามมานี้ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอาจยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าความขัดแย้งจะมีระยะเวลานานเพียงใด เหตุการณ์จะรุนแรงแค่ไหน จะขยายไปยังส่วนอื่น ๆ ของภูมิภาคหรือไม่ และถึงแม้ว่าสงครามจะไม่ได้ยกระดับขยายวงสู่ระดับภูมิภาค แต่สงครามที่ยืดเยื้อในพื้นที่ซึ่งมีภูมิหลังความขัดแย้งกันมายาวนาน อีกทั้งยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก จะยิ่งเป็นการสร้างความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งขั้วเศรษฐกิจการค้าโลกให้ขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมภาวะเปราะบางและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกในระยะข้างหน้าด้วย

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเมื่อเกิดความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ กลับเป็นโอกาสแสวงหาช่องทางการค้าและการลงทุนของไทย ในฐานะประเทศที่วางตัวเป็นกลางเหนือความขัดแย้ง เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยได้รับผลประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯ จากจีนมาไทย และยังมีโอกาสส่งออกสินค้าทดแทนเข้าไปในตลาดคู่ขัดแย้ง เช่นเดียวกับกรณีเกิดความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่สร้างความไม่ไม่มั่นคงทางด้านอาหารทั่วโลกก็ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากความต้องการซื้อสินค้าเกษตรและอาหาร ดังนั้น เหตุความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในครั้งนี้ ที่แม้ไทยยังไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่ภาพรวมของสงครามสงครามในภูมิภาคดังกล่าว ก็มีส่วนบั่นทอนความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงถือเป็นโอกาสในการสร้างความร่วมมือทางการค้าและการลงุทน รวมทั้งผลักดันสินค้าไทย เช่น อาหารฮาลาล กับกลุ่มประเทศมุสลิมอื่น ๆ ทดแทนได้ .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

Joe Biden and Kamala Harris on stage

ผู้เชี่ยวชาญชี้สาเหตุที่ “แฮร์ริส” พ่ายแพ้

ผู้เชี่ยวชาญชี้สาเหตุที่นางคอมมาลา แฮร์ริส ตัวแทนพรรคเดโมแครต พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ให้แก่นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน

“ทรัมป์” คว้าชัยเด็ดขาด ครองตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัย

โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน คว้าชัยชนะเด็ดขาดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เหนือคู่แข่งอย่าง คอมมาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต นับเป็นการกลับมาครองตำแหน่งผู้นำสหรัฐอีกครั้ง หลังต้องออกจากทำเนียบขาวไปเมื่อ 4 ปีก่อน

พบศพไวยาวัจกรวัดดังระยองถูกยิงดับพร้อมหญิงสาวในบ้านพัก

พบศพไวยาวัจกรวัดดัง จ.ระยอง ถูกยิงเสียชีวิตในบ้านพัก พร้อมหญิงสาวหน้าตาดี คาดเสียชีวิตมาแล้ว 3 วัน ตำรวจเร่งหาสาเหตุ

พบเด็กหญิงฝาแฝดวัย 9 ขวบ ดวงตาสีฟ้า

พบเด็กหญิงฝาแฝดชาวนครพนม วัย 9 ขวบ มีดวงตาสีฟ้าสดใส ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่พบได้ยาก อาศัยอยู่กับแม่เลี้ยงเดี่ยว แม่เผยลูกมีปัญหาทางการได้ยิน ใช้ชีวิตลำบาก ถูกบลูลี่ แต่ไม่ขอเปิดรับบริจาค เพราะเคยถูกมิจฉาชีพแอบอ้าง

ข่าวแนะนำ

นำ “ทนายตั้ม-ภรรยา” ฝากขัง เจ้าตัวยกมือไหว้ ปัดตอบทุกประเด็น

กองปราบฯ นำ “ทนายตั้ม-ภรรยา” ฝากขังศาลอาญารัชดา เบื้องต้นท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว ด้านเจ้าตัวยกมือไหว้ ปัดตอบทุกประเด็น

ครูปรีชาทนายตั้ม

“ครูปรีชา” หิ้วกาแฟ-ข้าวผัด เยี่ยม “ทนายตั้ม”

เกือบ 24 ชั่วโมง ที่ตำรวจกองปราบฯ คุมตัว “ทนายตั้ม-ภรรยา” มาสอบปากคำ เบื้องต้นทั้งคู่ยังให้การปฏิเสธ เตรียมส่งตัวฝากขังบ่ายนี้ ส่วนคู่กรณีหวย 30 ล้าน “ครูปรีชา” นำข้าวผัดและกาแฟ เข้าเยี่ยม “ทนายตั้ม” พร้อมยืนยันคำเดิม “ความจริงก็คือความจริง”

นายกฯ เร่งตั้งทีม JTC เจรจา MOU44 คาดชัด 18 พ.ย.นี้

นายกฯ ยันรัฐบาลเร่งตั้งคณะกรรมการ JTC หารือเส้นเขตแดน MOU 44 และพลังงานใต้ทะเล คาด 18 พ.ย.นี้ ชัดเจน “ภูมิธรรม” มั่นใจกัมพูชายึดตามสนธิสัญญาเจนีวา แม้ไม่เข้าร่วม ย้ำมีผลผูกพันทุกประเทศทั่วโลก