ธปท. 11 ต.ค. – ธปท. ไม่หวั่นเหตุรุนแรงตะวันออกกลาง แนะปล่อยราคาน้ำมัน ไหลตามกลไกตลาดโลก แทรกแซงตลาดสร้างภาระเพิ่ม ระบุ ดิจิทัลวอลเล็ต ดันจีดีพีโตกว่าร้อยละ 4 สร้างเงินหมุนเวียนร้อยละ 0.6
ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวระหว่างการจัดงาน “Monetary Polycy Forum“ ว่า ยอมรับว่าเหตุการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มอามาส นับเป็นเหตุน่าเศร้าใจ หลายฝ่ายคาดว่าเหตุการณ์รุนแรงน่าจะยืดเยื้อเหมือนกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ยอมรับปัญหาในตะวันออกกลางคาดเดายาก อาจทำให้ราคาน้ำมันดิบขยับสูงขึ้นสักระยะ ขณะเดียวกันปัญหารุนแรงขณะนี้ยังทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เพื่อหาความปลอดภัยในการลงทุน ส่งผลให้ค่าเงินหลายประเทศทั่วโลกอ่อนค่าลง มีต้นทุนนำเข้าพลังงานสูงขึ้น การออกมาตรการดูแลของรัฐบาล ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณ หรือกองทุนน้ำมันฯ เพราะราคาปรับเพิ่มระยะหนึ่ง
สำหรับการปรับเพิ่มดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมา เพื่อถอนคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ไม่สร้างแรงผลักดันให้เกิดอัตราเงินเฟ้อสูงเพิ่ม โจทย์ใหญ่ในขณะนี้ คือ ดูภาคท่องเที่ยว ทะยอยเพิ่มจาก 5 ล้านคน ในเดือนกันยายน 65 เพิ่มเป็น 20 ล้านคนในช่วงเดียวกัน ท่ามกลางแนวโน้มดอกเบี้ยสูงในสหรัฐ อังกฤษ ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยยังต่ำกว่าภูมิภาค และต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก ธปท. พยามทำให้บรรยากาศการลงทุน มีความเชื่อมั่นจากภาคเอกชน ช่วงที่ผ่านมา กนง. ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2 นับว่า ต่างประเทศปรับเพิ่มร้อยละ 4 สูงว่าไทยอย่างมาก ไทยรับว่าอัตราดอกเบี้ยต่ำมากในหลายประเทศ ในช่วง 2 ปี ข้างหน้า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยใกล้จุดสมดุล การปรับดอกเบี้ยนับว่าส่งผ่านไปยังธนาคารพาณิชย์ร้อยละ 60 ถือว่าสถาบันการเงินปรับเพิ่มดอกเบี้ยไม่สูงมากนักตามธนาคารกลาง
“ธปท. ยังไม่นำโครงการดิจิทัลวอเล็ต 1 หมื่นบาท มาเป็นฐานคำนวณจีดีพี เพราะยังไม่ชัดเจน หากรัฐบาลเดินหน้าผลักดันโครงการ อาจทำให้จีดีพีในปี 67 ขยายตัวมากกว่าร้อยละ 4 สำหรับตัวทวีคูณ สร้างเงินหมุนเวียนในระบบ เมื่ออัดเงินสู่ระบบ 5.6 แสนล้านบาท มองว่า ตัวทวีคูณสร้างการหมุนเวียนร้อยละ 0.3-0.6 เช่น ใส่เงินเข้าระบบ 100 บาท หมุนเวียนเพิ่ม 30-60 บาท นอกจากนี้ยังลุ้นการปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำ 400 บาท สอดคล้องกับเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างไร” ดร.ปิติ กล่าว
ดร. สักกะภพ พันธ์ยากุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทเคลื่อนไหนในทิศทางเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาค จึงไม่น่าห่วง ธปท. ยังติดตามค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลต้นทุนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ผลต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อไม่ให้เงินบาทอ่อนค่าซ้ำเติมเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป ธปท. คาดการว่าจีดีพีในปี 66 เติบโตร้อยละ 2.8 และขยายตัวร้อยละ 4.4 ในปี 67 การส่งออกในปีนี้ติดลบร้อยละ -1.7 และขยายตัวดีขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 67 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทย 28.5 ล้านคนในปี 66 เพิ่มเป็น 35 ล้านคนในปี 67
ดร.สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ในปีหน้าเป็นความเสี่ยงขาสูง อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าอยู่ในระดับต่ำจากฐานสูงในปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อได้ลดลง เนื่องจากราคาอาหารสด การชดเชยต้นทุนค่าไฟฟ้า น้ำมันดีเซล ของรัฐบาล ยอมรับว่าดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มทยอยสูงขึ้นในปีต่อไป และจับตาปัญหาเอลณิลโญ สร้างภัยแล้งกระทบไปหลายภาคส่วน คาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อยังเป็นไปตามเป้าหมาย แม้เหตุการณ์ความรุนแรงตะวันออกลาง คาดว่าน้ำมันดิบตลาดโลกราคา 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลล์ในช่วงสิ้นปี 66
ดร.ภูริชัย รุ่งเจริญกิจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า จากคำถาม เหตุใด กนง.ยังขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่เงินเฟ้อชะลอลง จีดีพีไม่สูงนัก ยอมรับว่า ปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง นโยบายการเงินต้องใช้เวลาส่งผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจ จึงต้องมองแนวโน้มเศรษฐกิจข้างหน้า เงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้น และมีแรงส่งฟื้นตัวเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน เป็นเพียงการถอนคันเร่งผลักดันเศรษฐกิจ
นับว่ากลไกสินเชื่อใช้หนักมาในช่วงโควิด-19 การปล่อยกู้จึงสูงมากกว่าปกติ เพราะไทยเผชิญปัญหาหลายด้าน ธนาคารจึงเข้ามาช่วยปล่อยกู้ เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยไปช่วยอีกด้าน ธปท. มองว่า สัญญาณเปราะบางในขณะนี้ คือ หนี้ภาครัวเรือน การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนในสหกรณ์มากเป็นพิเศษ การลงทุนในหุ้นกู้ของภาคเอกชน สำหรับปัจจัยเสี่ยงต้องติดตาม คือ แรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีผลต่อเงินเฟ้อจากนโยบายภาครัฐอย่างไร และความผัวนผวนในตลาดเงิน.- สำนักข่าวไทย