อสมท 3 ต.ค.-โฆษกสำนักงานสลากฯ เผยหวยอลเวง 30 ล้านบาท ไม่มีข้อผูกพันกับสำนักงานสลากฯ แนะเช็กสลากในมือก่อนหวยออก ป้องกันการชวดรับเงินรางวัล ยันเอาผิดผู้ค้าขายเกินราคาได้ พร้อมจ่อตัดโควตาตลอดชีวิตผู้ค้าขายช่วงเล่ม
นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวถึงกรณีสองสามีภรรยาชาวจังหวัดอุทัยธานี สั่งซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ชุด 5 ใบ โดยเก็บเงินปลายทาง ก่อนพบถูกรางวัลที่ 1 แต่ชวดรับเงิน 30 ล้านบาท เพราะร้านอ้างโทรติดต่อไม่ได้ เลยไม่ได้ส่งลอตเตอรี่ชุดดังกล่าวให้ ว่า กรณีดังกล่าว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจตัดสินว่าใครถูกหรือผิด และไม่มีข้อผูกพันกับสำนักงานสลากฯ จึงไม่สามารถให้ความเห็นในทางคดีความได้ โดยกรณีดังกล่าวเป็นอำนาจของตำรวจในการพิสูจน์ทราบเพื่อให้ศาลยืนยันว่า สลากชุดดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร สัญญาการซื้อขายสมบูรณ์หรือไม่ แต่ในนามสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือว่ากรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย
สำนักงานสลากฯ ส่งเสริมให้มีการซื้อขายสลากฯ โดยที่ผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยแท้ โดยสลากกินแบ่งรัฐบาล (L6) ที่สำนักงานสลากฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ มี 2 รูปแบบ คือ 1. แบบสลากใบ และ 2. แบบดิจิทัล ที่ขายในแอปฯ เป๋าตัง ซึ่งเป็นระบบทางการของสำนักงานสลากฯ มีการบันทึกว่าใครเป็นผู้ซื้อ (จากหมายเลขบัตรประชาชนที่ลงทะเบียนในแอปฯ เป๋าตัง) ซื้อหมายเลขอะไร จ่ายเงินเท่าไหร่ แม้จะไม่ได้ถือสลากเป็นใบ แต่หากทำโทรศัพท์มือถือสูญหาย หรือหลักฐานการซื้อขายสูญหาย ก็สามารถพิสูจน์ทราบได้ เมื่อถูกรางวัลก็จะได้รับเงินรางวัลโดยอัตโนมัติ ส่วนการซื้อขายแบบใบตามหน้าร้าน หรือแบบเร่ขาย หรือการซื้อผ่านออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือแอปฯ ออนไลน์อื่นๆ ซึ่งมีทั้งการส่งมอบสลากให้กับผู้ซื้อ และไม่ส่งมอบสลาก (ผู้ค้าเก็บไว้เอง)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานสลากฯ เตือนผู้ซื้ออยู่เสมอเกี่ยวกับการระมัดระวังผู้ขายไม่มีสลากส่งมอบให้ ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อมีโอกาสพลาดรับเงินรางวัลได้สูง เพราะสำนักงานสลากฯ จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่ถือสลากมาขึ้นเงินรางวัลเท่านั้น และการขึ้นเงินรางวัล สำนักงานสลากฯ จะจ่ายเงินรางวัลทุกกรณี หากไม่มีการอายัดการจ่ายเงินรางวัล เป็นหมายศาลหรือบันทึกประจำวันของตำรวจ ซึ่งเป็นกรณีของสลากที่มีความขัดแย้ง ดังนั้นจึงอยากย้ำเตือนผู้ซื้อให้ตรวจสอบสลากก่อนออกรางวัลในวันที่ 1 และ 16 เวลา 14.30 น. (วันหวยออก) ว่ามีสลากอยู่ในมือหรือไม่ หากไม่พบหรือสูญหาย ให้แจ้งความลงบันทึกประจำวันเอาไว้ ซึ่งจะช่วยในการพิสูจน์ทราบความเป็นเจ้าของสลาก และสามารถนำไปขึ้นเงินรางวัลได้ ขณะเดียวกัน หากซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แล้วไม่ได้รับสลาก ก็ให้รีบติดต่อผู้ขายเพื่อขอครอบครองกรรมสิทธิ์ หรือหากไม่มีระบบส่งมอบสลาก ผู้ซื้อก็ต้องเก็บหลักฐานยืนยันว่าได้ซื้อสลากจริง เช่น สลิปโอนเงิน หรือใบมอบฉันทะที่ให้ผู้อื่นดำเนินการแทน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ซื้อและผู้ขาย ย้ำกรณีหวยอลเวง 30 ล้านบาทดังกล่าว ไม่มีข้อผูกพันกับสำนักงานสลากฯ แต่สำนักงานสลากฯ พร้อมให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวพบว่ามีการรวมสลากเป็นชุด 5 ใบ และมีการขายเกินราคาที่กฏหมายกำหนด คือ ใบละ 80 บาท (ขาย 720 บาท) ซึ่งมีหลักฐานชัดเจน กรณีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเอาผิดดำเนินการจับและปรับได้ ตาม พ.ร.บ.สลากฯ ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
นายธนวรรธน์ ยังกล่าวด้วยว่า สำนักงานสลากฯ เตรียมตรวจสอบว่า สลากชุดดังกล่าวมีการขายช่วงต่อ เพื่อรวมชุด 5 ใบหรือไม่ หากพบการขายช่วงก็จะดำเนินการตัดโควตาตลอดชีวิตทันที
พร้อมแนะตรวจสอบสลากก่อนซื้อ 1. ดูว่างวดตรงหรือไม่ 2. สลากฉบับนั้นเป็นของจริงหรือไม่ โดยสามารถใช้มือชุ่มเหงื่อถู หากมีสีติดนิ้วมือ แสดงว่าเป็นสลากปลอม หรือนำใบสลากขึ้นไปส่องกับดวงอาทิตย์ เพื่อตรวจสอบว่ามีลายน้ำหรือไม่.–สำนักข่าวไทย