กรุงเทพฯ 5 ก.ย.-“ออมสิน”เดินหน้าNET ZEROปี 2050 ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1.72 ล้านตัน ประกาศชัดงดปล่อยสินเชื่อใหม่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ชูแผนเข้ม “งด-เลี่ยง”สนับสนุนด้านการเงินแก่ธุรกิจไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมชิงตลาดสินเชื่อสีเขียว
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ธนาคารออมสิน ได้อนุมัติแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions Roadmap ภายในปี 2050 สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ราว 1.72 ล้านตัน พร้อมตั้งแผนลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 50% ภายในปี 2030 ดำเนินการทั้งรูปแบบภายในองค์กรที่จะลดการใช้น้ำมันและใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์รูฟท็อป การส่งเสริมการปลูกป่า 5 หมื่นไร่ เพื่อดูดซับคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง และช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ และใช้นโยบายเปลี่ยนผ่านของลูกค้าด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้กับลูกค้าและการลงทุน
โดยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของธนาคารออมสินกว่า 97% มาจากการปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าและการลงทุน (Scope 3) ซึ่งมีการจัดเก็บและคำนวณได้จากวิธีการตามมาตรฐาน Science-Based Target Initiative ที่เป็นสากล โดยนับจากนี้ไป ธนาคารได้กำหนดแผนงดการปล่อยสินเชื่อแก่ธุรกิจเชื้อเพลิงถ่านหินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (No Coal and Coal Related Business) และเริ่มการใช้ ESG Score ในการประเมินคุณสมบัติด้าน ESG ของลูกค้าวงเงินสินเชื่อ 500 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งผลคะแนน ESG Score จะถูกนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยธนาคารพร้อมมอบส่วนลดดอกเบี้ย และ/หรือ อนุมัติเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้เป็นพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับว่าธนาคารออมสินเป็นผู้ริเริ่มนำเอา ESG Score มาใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเงื่อนไขพิเศษเป็นธนาคารแรกของประเทศ
โดยธนาคารได้จัดกลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. Exclusion List หรือ ธุรกิจที่ไม่สนับสนุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง คือจะไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ให้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน
2. Negative List หรือ ธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีคะแนน ESG Score ในระดับต่ำมาก โดยธนาคารจะเข้าทำ Positive Engagement กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาในการปรับปรุงดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบ
3. Positive List หรือ ธุรกิจที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ส่งเสริม BCG ธุรกิจ EV และ Supply Chain หรือกิจการบริษัทที่มีคะแนน ESG Score ในระดับสูง เป็นต้น
“ภาพรวมขณะนี้ออมสินมีพอร์ตสินเชื่อรวม 2.2 ล้านล้านบาท มีลูกค้าถ่านหินขนาดใหญ่ 1 ราย ตามแผนดังกล่าว จะสนับสนุนให้ลูกค้าทั้งรายเก่าและใหม่เปลี่ยนผ่านสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตั้งปี 2030 พอร์ตสินเชื่อ ESG จะมีสัดส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป, ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และซัพพลายเชน ร้อยละ 35 และส่งเสริมสินเชื่อให้ลูกค้าบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ต้องมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยจะมีสัดส่วนลูกค้าส่วนนี้ร้อยละ40 ” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวว่า ขณะนี้ออมสิน ได้ทยอยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ทั้งสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาทั่วประเทศ คาดว่าปี 2568 จะครบ 900 สาขา อีกทั้งจะเปลี่ยนการใช้รถยนต์ขององค์กรมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมสร้างจุดชาร์จด้วย ภายในกทม.จะเปลี่ยน 100% ภายใน 3 ปีข้างหน้า และต่างจังหวัดภายใน 5 ปี
นายวิทัย ยังกล่าวด้วยว่านโยบายดังกล่าวตอบสนองแผนของประเทศ ที่จะสู่ Net Zero ภายในปี 2065 ซึ่งเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะสนับสนุนแผนงานนี้ ในขณะเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงการปล่อยกู้ที่ไม่เหมาะสม ทางธนาคารมีแผนงานดำเนินงานตามกรอบปล่อยสินเชื่อพลังงานสะอาด ,สินเชื่อที่เน้นลูกค้า บจ.ที่มีแผนดำเนินธุรกิจESG ,ลูกค้าโครงสร้างพื้นฐาน โดยกลุ่มเหล่านี้ ก็จะเป็นรูปแบบสัญญาสินเชื่อที่มีสถาบันการเงินหลายแห่งเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน (Syndicated loan) โดยแผนงานปล่อยกู้ลูกค้านาดใหญ่เหล่านี้ ก็จะเป็นการนำผลกำไร ไปเป็นส่วนช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ให้มีต้นทุนที่ต่ำได้ต่อไป. -สำนักข่าวไทย
.