นนทบุรี 1 ก.ย.-กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมให้สินค้าจากยางพาราเต็มสูบ บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เน้นต่อยอดการวิจัยควบคู่กับการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความหลากหลายและโดดเด่นให้สินค้าจากยางพาราไทยเมื่อต้องแข่งขันในตลาดโลก
นางสาวณัฐิยา สุจินดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ยางพาราเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย การส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของไทยมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 590,000 ล้านบาท ในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกรวม 658,000 ล้านบาท และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่า 336,357 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น สินค้ายางพาราของไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ได้รับการยอมรับในด้านคุณภาพและมาตรฐานจากทั่วโลก โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกยางแปรรูปอันดับ 1 ของโลกโดยเฉพาะน้ำยางข้นและยางแผ่นรมควัน
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้แก่สินค้าเกษตรของไทย ซึ่งยางพาราเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการขยายโอกาสทางตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มและความหลากหลาย รวมทั้งการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ โดยใช้กลยุทธ์การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพันธมิตร จะช่วยผลักดันให้เกิดการขยายช่องทางการค้า ตลอดจนลดปัญหาอุปสรรคทางการค้า นำมาสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ฝ่าย เพื่อส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมยางพารา ระหว่าง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 66 ที่ผ่านมาความร่วมมือในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ทุกหน่วยงานดังกล่าวได้กำหนดจัดโครงการส่งเสริมการตลาดสินค้านวัตกรรมยางพารา ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรม Natural Rubber Innovation Matching Day ครั้งที่ 1 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 11 บริษัท 19 ราย มีการเข้ารับคำปรึกษาเชิงลึกกับนักวิจัย จำนวน 11 คู่ ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมยางพาราที่น่าสนใจ อาทิ วัสดุดูดซับแรงกระแทกผลิตจากยางพารา โฟมยางที่ผสมซีโอไลต์เพื่อลดการลามไฟ กระบวนการเตรียมยางรีไซเคิลหรือยางดีวัลคาไนซ์จากเศษถุงมือยางธรรมชาติ อุปกรณ์จำลองทางการแพทย์สำหรับฝึกฉีดยาอินซูลิน พิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อทำกิจกรรม Natural Rubber Innovation Matching Day ครั้งที่ 2 มีผู้ประกอบการแสดงความประสงค์เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 29 บริษัท 48 ราย แยกเป็น การเข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอผลงานนวัตกรรม จำนวน 16 บริษัท 29 ราย การเข้ารับคำปรึกษาเชิงลึกกับนักวิจัย จำนวน 16 คู่ และการเจรจาการค้าออนไลน์ (Online Business Matching) กับผู้ซื้อและผู้นำเข้าในต่างประเทศ จำนวน 26 คู่
ทั้งนี้ ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดการบูรณาการอย่างเต็มรูปแบบระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อให้สินค้านวัตกรรมยางพาราจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักลงทุน นักวิจัย และภาครัฐ ส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงลดภาระด้านการลงทุนและประหยัดเวลาในการวิจัยและพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยสามารถนำงานวิจัยยางพารามาต่อยอด สร้างความหลากหลาย และผลิตเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไป.-สำนักข่าวไทย