ทำเนียบฯ 15 ส.ค.- ครม.ไฟเขียวโอนมรดก ที่ดิน ส.ป.ก. คิดค่ารับโอนสิทธิไม่เกิน 1.5 เท่าของราคาประเมิน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิ โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและขยายระยะเวลาการจัดทำตาม พ.ร.บ.ที่ดิน ส.ป.ก. ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 นี้ โดยผู้ได้รับสิทธิในที่ดินถึงแก่ความตาย สามารถตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ตามที่กำหนดไว้ ในประมวลกฎหมายเพ่งและพาณิชย์ เช่น คู่สมรส/ผู้สืบสันดาน (บุตร)/บิดามารดา/พี่น้อง ร่วมบิดามารดาเดียวกัน/พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน/ ปู่ ย่า ตา ยาย/ลุง ป้า น้า อา)
การกำหนดให้ ส.ป.ก. อาจรับโอนสิทธิในที่ดินจากผู้ได้รับสิทธิ ในที่ดินที่ประสงค์จะโอนสิทธิในที่ดินให้ ส.ป.ก. โดยไม่รับค่าตอบแทนหรือโดยรับค่าตอบแทน หรือการโอนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล ให้ ส.ป.ก. คิดค่าเช่าซื้อที่ดินที่ผู้ได้รับสิทธิในที่ดินได้เช่าซื้อ ในราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หากฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. หรืออาจต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อบังคับให้มีการโอนที่ดินคืนให้ ส.ป.ก.
โดยสำนักงาน ส.ป.ก. มีอำนาจพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิ ในที่ดินได้ ดังนี้ 1. กรณีการรับโอนสิทธิจากผู้ได้รับสิทธิในที่ดินกรณีทั่วไป คิดค่าตอบแทน ไม่เกินกว่าราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายว่าด้วยการประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์แห่งรัฐ หรือเกินกว่าราคาประเมินตามความจำเป็น แต่ไม่เกินกว่า 1.5 เท่า ของราคาประเมิน ส่วนกรณีการรับโอนสิทธิจากผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ต้องไม่เกินกว่าค่าเช่าซื้อที่ดิน หากมีความเสียหายเกิดขึ้น ให้หักลบกลบหนี้ตามมูลค่าความเสียหายไว้ในคำสั่งรับการโอนสิทธิ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐนำที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่รัฐจัดซื้อ หรือเวนคืนจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งไม่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเอง หรือมีที่ดินเกินสิทธิตาม พ.ร.บ. นี้ จัดให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือเกษตรกรที่มีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพและสถาบันเกษตรกรได้เช่าซื้อ เช่า หรือเข้าทำประโยชน์ โดยรัฐให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม
ผู้มีสิทธิได้รับจัดที่ดิน ส.ป.ก. มี 3 ประเภท คือ (1) เกษตรกร (2) บุคคลผู้ยากจนหรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร และ (3) สถาบันเกษตรกร (กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์การเกษตร/ชุมนุมสหกรณ์การเกษตร ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์) ซึ่งที่ดินของ ส.ป.ก. เป็น 2 ประเภท คือ 1. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่ดินของรัฐ ส.ป.ก. จะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01 ข) ให้กับเกษตรกร 2. กรณีที่ดินที่ได้รับเป็นประเภทที่เอกชน ที่ดิน ส.ป.ก. ได้มาโดยการจัดซื้อหรือเวนคืน ส.ป.ก. จะจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน (ส.ป.ก. 4-14 ก) หรือสัญญาเช่าซื้อที่ดิน (ส.ป.ก. 4-18ข) กับเกษตรกรสถาบันเกษตรกร.-สำนักข่าวไทย