กรุงเทพฯ 8 ส.ค. – ผู้ว่าฯ ธปท. ย้ำเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่จีดีพีอาจต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 3.6% เปลี่ยนโจทย์ดำเนินนโยบายการเงินจาก ‘Smooth take off’ มาเป็น ‘Landing’ เตือนนโยบายรัฐบาลใหม่ต้องไม่กระทบเสถียรภาพ
ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ “ยกระดับเศรษฐกิจเหนือ คว้าโอกาสบนโลกแห่งความท้าทาย” ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในช่วงสนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ ‘ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย’ โดยระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าบางช่วงจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้บ้างประเมินตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะอยู่ที่ 3 กลางๆ ทั้งปีนี้และปีหน้า ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.6% ขณะที่ประเมินว่าตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 2/2566 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะประกาศในเดือน ส.ค.นี้ แนวโน้มจะต่ำกว่าคาดการณ์ ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนจากการบริโภคเอกชน รวมไปถึงการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่เห็นภาพการเปลี่ยนแผลงอย่างมีนัยยะ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าเติบโตเกิน 4% ซึ่งถือเป็นระดับค่อนข้างสูง ส่วนการท่องเที่ยว ถึงแม้จีนอาจจะไม่มาเร็วอย่างที่เราคิด แต่ยังเชื่อว่าจะเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยว 29 ล้านคน ซึ่งจะช่วยพยุงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกไม่ค่อยดีนักจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน แต่เชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ ยังกล่าวถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท.ในระยะต่อไปว่าบริบท เศรษฐกิจปีนี้ แตกต่างจากปี พ.ศ. 2565 ที่เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสูงและเร็ว จนทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มขึ้นดอกเบี้ย เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ขณะที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด คาดว่าและอัตราเงินเฟ้อระยะยาวจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ดังนั้น โจทย์การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน โดยตอนนี้เราจะเน้นเรื่อง Landing คือ ทำอย่างไรให้การ Landing ลงให้ได้อย่างดี จากก่อนหน้านี้ที่เน้น Smooth take off นอกจากดูปัจจัยระยะสั้น เช่น เงินเฟ้อ เศรษฐกิจเติบโตเป็นอย่างไรแล้ว ต้องดูเศรษฐกิจระยะยาวด้วย โดยมี 3 เรื่องที่ต้องพิจารณา คือ 1.การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในศักยภาพระยะยาวหรือไม่ คือ 3-4% ถ้าโตเร็วกว่านั้น จะเกิดปัญหาความร้อนแรง เพราะเศรษฐกิจเราเป็นสังคมผู้สูงวัย ไม่ได้โตเร็วเหมือนสมัยก่อน 2.เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย 1-3% ซึ่งเป็นระดับยั่งยืน และ 3.อัตราดอกเบี้ยต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างหรือความสมดุลต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของจีดีพี ส่วนหนึ่งมาจากการที่เรามีดอกเบี้ยต่ำมากและนานเกินไป จึงต้องปรับดอกเบี้ยและดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาสอดคล้องกับความสมดุลในระยะยาวมากขึ้น
เมื่อโจทย์การดำเนินนโยบายการเงินเปลี่ยนจาก Smooth take off มาเป็น landing แล้ว เราจึงถอด ‘ขึ้นอัตรดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นไป’ และเพิ่มคำว่า ‘optionality’ คือ จะทำอย่างนี้หรืออย่างนั้นก็ได้ ดังนั้นการประชุม กนง.คราวหน้ามีโอกาสที่จะคงหรือขึนดอกเบี้ย แต่ไม่ปรับลงแน่นอน พร้อมระบุว่า ธปท. เข้าใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีผลข้างเคียง และสร้างภาระ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะมีผลในภาพรวม ทำให้ที่ผ่านมาจึงมีการออกมาตรการมาช่วยดูแลกลุ่มเปราะบาง ที่อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นพิเศษ เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว และมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ส่วนการส่งผ่านของธนาคารพาณิชย์ หลังการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ธปท. ไม่อยากให้กระทบลูกค้าของธนาคารพาณิชย์มากเกินไป เช่น รอบล่าสุดที่ขึ้น 0.25% นั้น การส่งผ่านไปสู่อัตราดอกเบี้ย MRR อยู่ที่ประมาณ 50% เท่านั้น
สำหรับสถานการณืทางการเมืองไม่แน่นอนทางการเมือง ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่าผลกระทบไม่ค่อยมาก ซึ่งการที่ ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ระดับ 3% กว่าๆ นั้น ได้รวมเอาปัจจัยความล่าช้าของงบประมาณเข้าไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยคาดว่างบประมาณจะล่าช้าไป 2 ไตรมาส งบรายจ่ายประจำยังสามารถดำเนินการได้ปกติ เพียงแต่งบลงทุน อาจกระทบบ้าง แต่ไม่ได้มากจนทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม จุดเสี่ยงจริง ๆ นอกเหนือจากหน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไรแล้ว ยังมีเรื่องนโยบายที่ต้องดูว่ารัฐบาลใหม่ จะมีนโยบายอะไรออกมา
“สิ่งที่กังวลในเรื่องความเสี่ยง คือ ไม่รู้ใครจะมา รัฐบาลเป็นอย่างไร ถ้ามาแล้ว ก็ไม่อยากเห็นนโยบายรัฐบาลใหม่ที่ไปบั่นทอนเรื่องเสถียรภาพ ผมเข้าใจ รัฐบาล เรื่องการเมือง ต้องมีสไตล์รายจ่ายประชานิยม แต่ถ้าอยู่ในกรอบ ไม่มากเกินไป มีแหล่งเงินที่ชัดเจน ก็โอเค แต่ถ้ามากเกินไปจนกระทบเสถียรภาพ อันนี้น่าเป็นห่วง” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว .-สำนักข่าวไทย