นนทบุรี 25 ก.ค.-รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ยัน “นมพร้อมดื่ม” ไม่ขาดแคลน ระบุระหว่าง ก.ค. – ก.ย. ของทุกปี เป็นช่วงชะลอการรีดนมวัด หรือ “พักเต้า” (Dry cow) หลังเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รีดนมโคมาจนถึงช่วงที่แม่โคใกล้จะคลอด เพื่อรักษาสุขภาพของแม่โคและความสามารถในการให้น้ำนมโค ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานแปรรูปในช่วงนี้ลดลงไปบ้างเท่านั้น และยังไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มช่วงเวลานี้
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยกรณีปรากฏเป็นข่าวว่าขณะนี้ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในท้องตลาดมีปริมาณลดลง ว่ากรมการค้าภายในได้ประชุมหารือกับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นม ห้างค้าปลีกค้าส่งและห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม พบว่าระหว่าง ก.ค. – ก.ย. ของทุกปี เป็นช่วงชะลอการรีดนมวัด หรือ “พักเต้า” (Dry cow) หลังจากที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้รีดนมโคมาจนถึงช่วงที่แม่โคใกล้จะคลอด เพื่อรักษาสุขภาพของแม่โคและความสามารถในการให้น้ำนมโค ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำนมดิบเข้าสู่โรงงานแปรรูปในช่วงนี้ลดลงไปบ้าง ในขณะที่ปริมาณการบริโภคยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำนมดิบที่ลดลงส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบเฉพาะในส่วนของนมสดพาสเจอร์ไรส์เป็นหลัก ขณะที่นมสดยูเอชที ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 50 ของการบริโภคผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มทั้งหมด แทบจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงสามารถผลิตและจำหน่ายได้ตามปกติ ดังนั้น ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มจึงไม่ขาดแคลน
ทั้งนี้ ในการประชุมหารือกับห้างค้าปลีกค้าส่งและห้างท้องถิ่น เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 66 กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือห้างฯ ในการบริหารจัดการสต็อกและเติมสินค้าบนชั้นวางอย่างสม่ำเสมอ และกรมฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป คาดว่าปริมาณน้ำนมดิบจะกลับสู่ภาวะปกติในช่วงเดือน ต.ค. เช่นเดียวกับปีที่ผ่านๆ มา
สำหรับเรื่องราคา กรมการค้าภายในยังคงไม่มีการอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มในช่วงเวลานี้ นอกจากนี้หลายห้างยังมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากหลังจากนี้มีการประกาศปรับราคารับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและราคารับซื้อหน้าโรงงานแปรรูป ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี กรมฯ ก็พร้อมที่จะพิจารณาราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มให้ตามสัดส่วนต้นทุนน้ำนมดิบที่สูงขึ้นต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมสามารถดำเนินการต่อไปได้ สินค้ามีปริมาณเพียงพอ และผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด.-สำนักข่าวไทย