กรุงเทพฯ 28 มิ.ย.- กลุ่มบริษัทบางจากฯ เดินหน้าก้าวสู่การเป็นผู้นำพลังงานแห่งอนาคต เตรียมทุ่ม 1 หมื่นล้านบาท ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF รายแรกในประเทศไทยเริ่มผลิตปลายปี 2567
กลุ่มบริษัทบางจากฯ จัดพิธีลงนามในสัญญาก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนระหว่าง บริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ธนโชค ออยล์ ไลท์ จำกัด กับบริษัท ทีทีซีแอล จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านการออกแบบวิศวกรรมและก่อสร้างโรงงานจากประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในภาคอุตสาหกรรมการบิน ตอบโจทย์ BCG Economy Model ครบทั้ง 3 ด้าน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากฯกำลังก้าวสู่ความเป็น ‘ผู้นำพลังงานแห่งอนาคต’ เข้าสู่ยุคที่ 2 ของโรงกลั่นด้วยการบุกเบิกการผลิตน้ำมันสำหรับอากาศยาน SAF ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 80% ตลอดวงจรชีวิต เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอากาศยานที่ผลิตจากฟอสซิล และเป็นการต่อยอดน้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหารผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” นับว่ากลุ่มบางจากฯเป็นผู้ผลิต SAF รายแรกและขณะนี้เป็นรายเดียวในประเทศไทย
“SAFช่วยตอบโจทย์BCGพี่น้องประชาชนสามารถนำน้ำมันพืชใช้แล้งหรือCooking Oilมาขายในสถานีบริการน้ำมันบางจากและจุดรับซื้อ ในโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” เพื่อนำไปผลิตเป็น SAF ช่วยรักษาสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้เสริมอีกด้วย” นายชัยวัฒน์กล่าว
การก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนจากน้ำมันพืชใช้แล้ว SAF เป็นการร่วมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการบินในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศตามแผนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับ SAF เป็นอย่างมากในฐานะเชื้อเพลิงสำคัญที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น เมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกา ได้กำหนดกฎหมายลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act of 2022 – IRA) สร้างแรงจูงใจและสนับสนุนผู้ผลิตด้วยการกำหนดภาษีในการผลิต 1.75 เหรียญสหรัฐต่อแกลลอน ในขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปมีการใช้มาตรการบังคับให้ผสม SAF ลงไปในน้ำมันอากาศยานทั่วไปในสัดส่วนอย่างน้อย 2% ในปี 2568 และกำหนดให้เพิ่มเป็น 5% ในปี 2573 จนถึงปี 2593 ที่ต้องผสมอยู่ที่ 70% ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายให้เครื่องบินสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้สนามบินญี่ปุ่นจะต้องมีสัดส่วนการใช้ SAF อยู่ที่ 10% ภายในปี 2573
สำหรับหน่วยผลิต SAF ในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก จะใช้เทคโนโลยีในการปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้ว (Pre-Treatment) ของบริษัท Desmet ประเทศมาเลเซีย โดยรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้วจากครัวเรือนและภาคธุรกิจผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” และช่องทางอื่นๆ และเทคโนโลยีกระบวนการกำจัดออกซิเจน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแตกโมเลกุลด้วยไฮโดรเจนด้วย UOP Ecofining Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนของบริษัท Honeywell UOP ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิต 1ล้านลิตรต่อวัน ลงทุนประมาณ1หมื่นล้านบาทคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า “SAF เป็นอีกหนึ่งก้าวที่สะท้อนรูปธรรมที่ชัดเจนของการดำเนินงานตามแผน BCP 316 NET ของบางจากฯ เพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2593 และยังเป็นการบูรณาการในการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy Model ทั้ง 3 ด้าน คือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและยั่งยืน .-สำนักข่าวไทย