กรุงเทพฯ 23 มิ.ย. – เลขาธิการ สมอ. เผยถังดับเพลิงที่ระเบิดภายในโรงเรียนราชวินิต มัธยม ไม่มี มอก. เตรียมถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับมาตรฐานถังดับเพลิง Co2
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุถังดับเพลิง ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ ระเบิดภายในโรงเรียนราชวินิต มัธยม ขณะกำลังซ้อมแผนดับเพลิง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บอีกหลายราย จากการตรวจสอบเบื้องต้น ถังดับเพลิงที่เกิดระเบิด เป็นถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ สำหรับใช้ดับเพลิงประเภท B และ C คือ เพลิงไหม้จากของเหลวประเภทน้ำมัน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งใช้งานง่าย ดับได้รวดเร็ว ซึ่ง สมอ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะในการรับรองผลิตภัณฑ์เครื่องดับเพลิงยกหิ้ว : คาร์บอนไดออกไซด์ มาตรฐานเลขที่ มอก. 881-2532 ซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไป เป็นภาคสมัครใจ ไม่ได้บังคับ ผู้ประกอบการจะขอใบรับรองหรือไม่ขอก็ได้ ขณะเดียวกัน ในการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ไม่ได้มีการกำหนดสเปกถังดับเพลิงชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ ว่าต้องได้ มอก. 881-2532
ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงไม่มีผู้ประกอบการรายใดมาขอใบรับรองจาก สมอ. แต่สำหรับถังดับเพลิงชนิดโฟม และถังดับเพลิงชนิดเคมีแห้ง ที่ขายในประเทศไทย จะต้องได้ มอก. 882-2532 และ มอก. 332-2537 เท่านั้น จึงจะสามารถจำหน่ายได้
ส่วนสาเหตุของการระเบิด จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นการฉีกขาดที่ด้านข้างของตัวถัง ซึ่งเป็นแผ่นเหล็กม้วนรีด ซึ่งเมื่อมีการนำมาใช้ซ้ำ และเจออุณหภูมิสูง ก็อาจจะไม่สามารถรับแรงดันภายในถังได้ หรืออีกกรณีคือ ถังไม่ได้มาตรฐาน เมื่อมีแรงดันภายในสูง วาล์วจึงไม่ทำงาน จนเกิดระเบิด แต่ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบการไม่ได้ยื่นขอใบรับรองจาก สมอ. จึงไม่มีข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ สมอ.เตรียมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงแรงงาน รวมถึงกรมการขนส่งทางบก ที่มีการใช้ถังชนิดนี้จำนวนมาก เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมจากมาตรฐานทั่วไปเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายมาตรฐานจะพิจารณาจากขีดความสามารถในการทําผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามที่มาตรฐานกําหนด และขีดความสามารถในการควบคุมดูแลให้ผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานโดยสมํ่าเสมอ
1. การตรวจสอบการทําผลิตภัณฑ์
– จะต้องประเมินและควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์
– ต้องมีการควบคุม/ตรวจสอบ/ทดสอบ ผลิตภัณฑ์ทุกรายการตามมาตรฐาน
– ต้องมีเครื่องมือทดสอบและทดสอบเป็นประจํา
2. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์
3. การออกใบอนุญาต โดย สมอ.จะออกใบอนุญาต โดยระบุขนาด ประเภทของเพลิง และระดับความสามารถของเครื่องดับเพลิงตามที่ยื่นขอ และจะมีการตรวจติดตามภายหลังการอนุญาต เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้รับใบอนุญาตยังคงรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ.-สำนักข่าวไทย