นนทบุรี 30 พ.ค.-ปลัดกระทรวงพาณิชย์เตรียมนำแผนงานเจาะทุกตลาดทั่วโลกเสนอรัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามาดูแลกระทรวงพาณิชย์ หลังหลายปัจจัยกระทบยอดส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องถึง 7 เดือน ล่าสุดยอดส่งออกเดือนเมษายน 2566 มีมูลค่าการส่งออกกว่า 21,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบที่ 7.6% คาดยังมีโอกาสติดลบไปอีก 2 เดือนและจะเริ่มเป็นบวกได้ในเดือน ก.ค.นี้เป็นต้นไป ย้ำแผนที่คุยกับเอกชนทุกฝ่ายเห็นตรงกันส่งออกไทยมีโอกาสเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนเมษายน 2566 โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 21,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบที่ 7.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากฐานการส่งออกที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมทั้งแต่ละประเทศมีการสตอกสินค้าไว้จำนวนมาก หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายทำให้คำสั่งซื้อในช่วงต้นปีชะลอตัว โดยสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวถึง 11.2% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นกัน รวมทั้งการส่งออกไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ กลับมาหดตัว ตามการชะลอตัวของความต้องการจากประเทศคู่ค้า รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าโลก
ส่วนยอดส่งออกรวมในช่วง 4 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.66) ไทย มีมูลค่าส่งออกรวม 92,003 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังหดตัวที่ 5.2% ขณะที่การนำเข้า เดือนเมษายน 2566 มีมูลค่า 23,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 7.3% ส่งผลให้ในเดือนเมษายน ไทย ขาดดุลการค้าที่ 1,471 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีมูลค่ารวม96,519 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 2.2% ทำให้ภาพรวม 4 เดือน ไทย ยังคงขาดดุลการค้า 4,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม ยอดส่ออกในเดือนดังกล่าวถือว่ายังดีกว่าหลายประเทศ ซึ่งในเดือนเมษายน 2566 อินโดนีเซีย ติดลบถึง 29% เวียดนาม ลบ 16.2% สิงคโปร์ ลบ 16% เกาหลีใต้ ลบ 14.3% และไต้หวัน ติดลบ 13.3% ดังนั้นสถานการณ์หลังจากนี้ยังพอมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้า เพื่อสำรองไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการ จะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน ที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 บวกสูงถึง 23.8% โดยเฉพาะผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและผลไม้แห้งขยายตัวถึง 142.8% ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์
“กระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนงานด้านการส่งออกในทุกมิติไว้พร้อมแล้ว เพื่อเตรียมนำเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนเข้ามาดูกระทรวงพาณิชย์ก็ตาม ซึ่งตามแผนงานเจาะตลาดทั่วโลกหลังจากที่ได้ประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนไปเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นว่าโอกาสที่สินค้าไทยในหลายกลุ่มทั้งอาหารและเครื่องดื่ม ผัก ผลไม้รวมทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยหลายประเทศมีความต้องการสินค้ากลุ่มเหล่านี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น คาดว่าแม้ตัวเลขการส่งออกของไทยอีก 2 เดือนข้างหน้ายังมีโอกาสติดลบอยู่บ้าง แต่น่าจะน้อยลงและจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ไปจนถึงไตรมาสที่ 4 โดยมีมูลค่ายอดส่งออกในแต่ละเดือนเกินกว่า 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โอกาสตัวเลขการส่งออกในปีนี้จะเป็นบวกได้ 1-2 % แต่หากไม่มีแผนงานเจาะตลาดใดโอกาสยอดส่งออกไทยปีนี้ก็จะเห็นติดลบได้เช่นกัน”นายกีรติกล่าว
ทั้งนี้ แผนผลักดันที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมไว้ ในช่วงครึ่งปีหลัง รวมกว่า 350 กิจกรรม น่าจะทำให้ตัวเลขการส่งออกในปีนี้เพิ่มขึ้น 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวดปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐและยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐ ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก.-สำนักข่าวไทย