กรุงเทพฯ 30 พ.ค.- สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หารือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมผลักดันซอฟท์พาวเวอร์ไทยผ่านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ เดินหน้าทันทีในโครงการ SAI ต่อยอดโมเดลเศรษฐกิจ BCG คาดช่วยหนุนให้ไทยขยับจากประเทศที่มีซอฟท์พาวเวอร์ทรงพลัง อันดับ 35 ในปี 65 ให้อยู่ในอันดับดีขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจ
นายเขมทัตต์ พลเดช นายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์นำคณะกรรมการสมาพันธ์เข้าพบนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางใช้อุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างมูลค่าแก่อุตสาหกรรมอื่นๆ ผ่านซอฟพาวเวอร์ต่างๆ
นายเกรียงไกรกล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์ในปี 2565 เป็นพลังสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ประเทศที่โดดเด่นที่สุดในการใช้ซอฟพาวเวอร์มาสนับสนุนเศรษฐกิจคือ สาธารณรัฐเกาหลีที่ก่อนหน้านี้ GDP ต่ำกว่าญี่ปุ่น แต่ปัจจุบัน GDP แซงหน้าญี่ปุ่นไปแล้ว คนทั่วโลกรู้จัก K-POP รวมถึงหนังและซีรีย์เกาหลี
สำหรับประเทศไทยมีซอฟพาวเวอร์สำคัญซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเผยแพร่ผ่านอุตสาหกรรมคอนเทนต์เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพร เครื่องสำอาง อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ และดิจิทัล
พร้อมกันนี้ยังได้ยกตัวอย่างที่ “ลิซ่า แบล็กพิงก์” ถือยาดมถ่ายรูปโดยไม่ได้ตั้งใจ ปรากฏว่า ยาดมยี่ห้อนั้นถูกเหมาหมดสตอก หรือเมื่อลิซ่าสวมสร้อยเพชร Bvlgari ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลก แต่ผลิตในประเทศไทย ทำให้มีคนซื้อตาม หากไทยสามารถสร้างแบรนด์ของตัวเอง แทนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแบบ Original Equipment Manufacturing (OEM) ที่เป็นอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต จะสามารถนำรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มขึ้น
ในการหารือกับสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์วันนี้ จะจับมือกันทำงานทันที โดยใช้อุตสาหกรรมคอนเทนต์มาสนับสนุนซอฟพาวเวอร์ในโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture Industry) หรือ SAI ของส.อ.ท. ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular, Green Economy) ของประเทศเพื่อปรับเปลี่ยน (Transformation) ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะสร้างการเติบโตและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ด้วยการใช้ทรัพยากรบริสุทธิ์น้อยลงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกิดเป็นรูปธรรม
นายเกรียงไกรกล่าวว่า การร่วมมือกันนี้ จะสามารถช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยขยับจากประเทศที่มีซอฟท์พาวเวอร์ทรงพลัง อันดับ 35 ในปี 2565 ให้อยู่ในอันดับดีขึ้นซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจ
นายเขมทัตต์กล่าวว่า องค์ประกอบของสมาชิกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์มี 2 ส่วน โดยส่วนแรกคือ ผู้ประกอบการสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ส่วนที่ 2 คือ ผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ ล่าสุดมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ ทางสมาพันธ์พยายามที่จะเผยแพร่คอนเทนต์ที่มีคุณภาพสู่ตลาดโลก โดยใช้ซอฟพาวเวอร์ช่วยสนับสนุนซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของส.อ.ท.
สำหรับการหารือกันในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในแนวทางใหม่ๆ โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกของส.อ.ท. สามารถสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานของคอนเทนต์ไทยให้ทัดเทียมระดับสากล ขณะเดียวกันสื่อและคอนเทนต์ไทยสามารถช่วยเผยแพร่ซอฟพาวเวอร์ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั่วโลก.-สำนักข่าวไทย