กรุงเทพฯ 27 มี.ค. – การรถไฟฯ ร่วมกับมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดกิจกรรม “รถไฟไทย ใครๆ ก็เที่ยวได้” ครั้งที่ 2 ส่งเสริมการเรียนรู้ มอบประสบการณ์และความสุขให้แก่น้องๆ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ
การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดกิจกรรม “รถไฟไทย ใครๆ ก็เที่ยวได้” ครั้งที่ 2 นำคณะครู และน้องๆ ผู้บกพร่องทางการมองเห็น จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ จำนวน 100 คน นั่งรถไฟ KIHA 183 เดินทางท่องเที่ยว เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่นอกห้องเรียน พร้อมกับทัศนศึกษาและรับฟังการบรรยายจากวิทยากร เกี่ยวกับเรื่องราวของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประวัติความเป็นมาของขบวนรถไฟ KIHA 183 ที่ร้อยเรียงให้ความรู้ในเรื่องของประเทศญี่ปุ่น ประวัติและข้อมูลที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งในเรื่องอาหาร ศิลปะ วัฒนธรรม สถานที่สำคัญ ตลอดถึงความสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทราของการเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economic Corridor) โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา ดร.วรรธนะ เจริญนวรัตน์ รองประธานมูลนิธิฯ นางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ผู้บริหารการรถไฟฯ ผู้บริหารมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ และมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา เข้าร่วมกิจกรรม
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม “รถไฟไทย ใครๆ ก็เที่ยวได้” ครั้งที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนแก่เด็กและเยาวชน ตามนโยบายของการรถไฟฯ ที่ต้องการให้องค์กรมีส่วนช่วยดูแลรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้บริการรถไฟได้อย่างเท่าเทียมกัน สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ได้นำคณะออกเดินทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) แลนด์มาร์กที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และเรื่องราววิถีชีวิตคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มุ่งหน้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทรา ด้วยขบวน KIHA 183 ที่การรถไฟฯ ได้รับมอบจากบริษัท JR HOKKAIDO จากประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับการบรรยายเรื่องราวการเดินทางของ KIHA 183 ที่นำมาซ่อมบำรุงและดัดแปลงจนสามารถนำออกมาให้บริการแก่ประชาชนในด้านการท่องเที่ยว และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกิจการรถไฟไทย
ด้านศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า การนำคณะครู และน้องๆ ผู้บกพร่องทางการมองเห็น เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสออกไปเรียนรู้โลกกว้างด้วยการนั่งรถไฟ ทำให้ได้รับทั้งความรู้และประสบการณ์ ควบคู่กับความสนุกสนาน อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตจากโลกภายนอก และสร้างภูมิคุ้มกัน ความเชื่อมั่น การเห็นคุณค่าในตัวเอง ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ คุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน
สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรา ถือมีความสำคัญเป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวและประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาเรียนรู้อีกมากมาย จึงนับเป็นโอกาสดีที่น้องๆ ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นได้มีโอกาสเดินทางสัมผัสโลกภายนอกด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไปสักการะ “หลวงพ่อโสธร” ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ซึ่งได้รับความเมตตาจากพระราชภาวนาพิธาน เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร และเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้โอวาทในเรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม และประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
พร้อมทั้งได้ร่วมรับฟังบรรยายเกี่ยวกับวัฒนธรรมเรื่องอาหารและของหวานของดีเมืองแปดริ้ว ณ ชุมชนวัดผาณิตาราม ซึ่งเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งทางด้านวัฒนธรรม และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องขนม อาหาร เป็นต้นกำเนิดของขนมและอาหารอร่อยหลายอย่าง รวมทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นในจังหวัดฉะเชิงเทรา เช่น ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มะม่วงขายตึก ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวและมะม่วงพันธุ์พื้นเมืองที่มีต้นกำเนิดในจังหวัดฉะเชิงเทรา ปลากะพงยักษ์ สินค้าขึ้นชื่อประจำจังหวัด และฉะเชิงเทรายังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลากะพงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนี้น้องๆ ได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของจังหวัดฉะเชิงเทรา อาทิ ข้าวหอมมะลิ ปลาช่อนต้มข่า กุ้งผัดยอดมะพร้าว ปลากะพงทอดน้ำปลา ไก่ห่อใบเตย ไข่ยัดไส้ แตงโมปลาแห้ง ลูกจากลอยแก้ว โดยทางมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา และภาคีเครือข่าย รวมถึงชุมชนวัดผาณิตาราม ได้นำมะม่วงและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากมะม่วง ซึ่งเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัด มาให้น้องๆ ได้เรียนรู้ รับประทาน สัมผัสของจริง พร้อมทั้งรับฟังข้อมูลไปในขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีมมะม่วงที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้พัฒนาร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มะม่วงน้ำปลาหวาน ที่มีมะม่วงหลากหลายชนิดอาทิ มะม่วงขายตึก มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงแรด มาให้น้องๆ ได้ลิ้มรสรับรู้ พร้อมได้สัมผัสถึงความแตกต่าง เป็นต้น
จากนั้นออกเดินทางไปสู่มินิมูร่าห์ฟาร์ม แหล่งท่องเที่ยวเที่ยวเชิงเกษตรแห่งใหม่ประจำจังหวัด เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เด็กๆ ให้ความสนใจและชื่นชอบ เพราะมีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งเลี้ยงอาหารสัตว์ต่างๆ เช่น กระต่าย ควาย เป็ด รอบๆ ฟาร์ม และน้องๆ ได้ลงมือทำพิซซ่าและไอศกรีมด้วยตัวเอง ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน สร้างรอยยิ้มและความประทับใจตลอดการเดินทาง
“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของการรถไฟฯ มูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน ตลอดจนทำให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้บริการรถไฟได้อย่างเท่าเทียม”.-สำนักข่าวไทย