นนทบุรี 10 มี.ค.-อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พร้อมให้คำปรึกษาผู้ผลิตไทย กรณีพบพฤติกรรมการหลบเลี่ยงการชำระอากร AD บริษัทผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตรายนั้นก็จะถูกเรียกเก็บอากร AD เพิ่มเติมอีกด้วย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของไทย ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 โดยได้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti – Circumvention : AC) เพื่อใช้แก้ปัญหาการหลบเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti – Dumping : AD) และอากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) และช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับความเสียหายจากการหลบเลี่ยงมาตรการดังกล่าว โดยกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้มาตรการ AC มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ รูปแบบการหลบเลี่ยงที่สามารถใช้มาตรการ AC จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การหลบเลี่ยงโดยการเปลี่ยนแปลงสินค้า เช่น การแก้ไขดัดแปลงเพียงเล็กน้อย (Slight modification) ยกตัวอย่างเช่น การนำสินค้าเหล็กไปเจือธาตุ เพื่อเปลี่ยนพิกัด โดยที่คุณสมบัติและการนำไปใช้ของสินค้ายังคงเดิม หรือการหลบเลี่ยงโดยการเปลี่ยนเส้นทางนำเข้าสินค้า เช่น การส่งสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD ผ่านประเทศที่ไม่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD (Transshipment) ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเหล็กจากประเทศ ก. โดนมาตรการ AD จากไทย จึงส่งสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศ ข. และส่งออกมาไทยอีกทอดหนึ่ง หรือการส่งสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD ผ่านผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกที่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD ในอัตราที่ต่ำกว่าตนเอง (Channelling) ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเหล็กจากบริษัท ก. ถูกเรียกเก็บอากร AD จากไทยในอัตราร้อยละ 20 จึงให้บริษัท ข. ที่ถูกเรียกเก็บอากร AD จากไทยในอัตราร้อยละ 5 เป็นผู้ส่งสินค้าดังกล่าวออกมาไทยอีกทอดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาใช้มาตรการ AC ของไทยจะเป็นการไต่สวนเฉพาะรายบริษัทผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตเท่านั้นโดยหากผลการไต่สวนพบว่า บริษัทผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตรายดังกล่าวมีการหลบเลี่ยงการชำระอากร AD จริง บริษัทผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตรายนั้นก็จะถูกเรียกเก็บอากร AD เพิ่มเติมด้วย ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดพบว่ามีการนำเข้ามาในรูปแบบการหลบเลี่ยงที่อาจใช้มาตรการ AC ได้ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 5086 หรืออีเมล dft.ac2@gmail.com .-สำนักข่าวไทย