กรุงเทพฯ 10 มี.ค. – ธปท. ออกมาตรการแก้ปัญหามิจฉาชีพหลอกดูดเงิน ห้ามสถาบันการเงินส่ง SMS-อีเมลแนบลิงก์ โอนเงินเกิน 50,000 บาท-เปลี่ยนวงเงิน ต้องสแกนใบหน้า
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลายรูปแบบ ธปท. จึงออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่ง ปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน
- มาตรการป้องกัน ปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น ให้สถาบันการเงินงดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ต่อ 1 อุปกรณ์เท่านั้น ต้องแจ้งเตือนก่อนทำธุรกรรมบน mobile banking ทุกครั้ง และพัฒนาระบบความปลอดภัย ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา
ยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชัน หรือทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ในเงื่อนไขที่กำหนดเช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป กำหนดเพดานวงเงินถอน โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการ โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตน
- มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย ธปท. จะกำหนดเงื่อนไข เพื่อให้สถาบันการเงินรายงานไปสำนักงาน ปปง. รวมทั้งต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ
- มาตรการตอบสนองและรับมือ ให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องมีสายด่วน 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยเร็ว รวมทั้งดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ธปท. ให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องดำเนินมาตรการทั้งหมดโดยเร็ว ให้แล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2566 และจะประเมินและทบทวนปรับปรุงเป็นระยะ การจัดการและแก้ไขภัยทางการเงินได้อย่างเบ็ดเสร็จขึ้น ต้องอาศัย พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ทันรัฐบาลชุดนี้
สถิติ ปี 2565 พบว่ารูปแบบการหลอกลวงดูดงินจากบัตรเดบิตและเครดิตลดลงกว่าครึ่ง การหลอกลวงผ่านโมบายแบงก์กิ้ง มีจำนวนเพิ่มขึ้น 79% มูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้น 72% มูค่าความเสียหายถูกหลอกดูดเงินทางแอปพลิเคชันมากกว่า 500 ล้านบาท . -สำนักข่าวไทย