นนทบุรี 27 ก.พ.-กรมการค้าต่างประเทศเดินหน้าส่งเสริมการส่งออกของผู้ประกอบการไทยในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญและสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยในเวทีนานาชาติ ส่งเสริมการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และสนับสนุนการค้าชายแดน พร้อมประกาศใช้มาตรการทางการค้าด้วยความโปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำแผนงานเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าในการบุกตลาดที่มีศักยภาพ และสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย ในการสร้างมูลค่าการค้าของไทยให้เพิ่มขึ้น พร้อมกับติดตามการใช้มาตรการทางการค้าของประเทศต่าง ๆ เพื่อปกป้องและสร้างความเป็นธรรมทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย ด้านการบริหารการนำเข้า-ส่งออกและมาตรการทางการค้าต่าง ๆเช่น การส่งเสริมและผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง รวมถึงการยกระดับสินค้าเกษตรนวัตกรรมต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศ
กรมฯ ได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมและผลักดันสินค้าข้าวและมันสำปะหลัง ไปบ้างแล้ว คือ 1.การจัดการประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก โดยร่วมกับสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงาน ผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดงานประชุมสัมมนามันสำปะหลังโลก ปี 2566 (World Tapioca Conference หรือ WTC 2023) ระหว่างวันที่ 23 – 25 ก.พ.66 ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยจับคู่เจรจาธุรกิจ และลงนาม MOU ซื้อขายมันสำปะหลังล่วงหน้ากับผู้นำเข้าคือ จีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และตุรกี 2 ล้านตัน เทียบเท่า 4.76 ล้านตันหัวมันสด มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท และก่อนหน้านี้ไทยได้เคยลงนาม MOU ซื้อขายล่วงหน้ากับผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ในปริมาณ 2 ล้านตันสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศมากกว่า 40,000 ล้านบาท โดยสถิติการส่งออกมันสำปะหลังเดือนม.ค.66 มีมูลค่า 11,554.94 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.03% (ม.ค.65 มีมูลค่า 12,039.73 ล้านบาท)
นอกจากนี้ กรมฯ ได้เข้าร่วมการจัดนิทรรศการและแสดงตัวอย่างสินค้าข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ของไทยชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวหอมมะลิไทยอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ แป้งข้าวอินทรีย์ เครื่องดื่มจากข้าวอินทรีย์ และขนมอบกรอบที่ทำจากข้าวอินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีการเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและผู้นำเข้าจากต่างประเทศภายในงานอีกด้วย คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าคำสั่งซื้อข้าวอินทรีย์ไทยกว่า 14 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์จากข้าวอินทรีย์ไทยอีกกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มการผลิตและตลาดเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงปี 64 และเริ่มชะลอตัวในปี 65 เนื่องจากรายได้ของผู้บริโภคลดลงและราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น แต่คาดว่าในปี 66 เกษตรอินทรีย์ในยุโรป เช่น เยอรมนี อิตาลี และสหราชอาณาจักร มีทิศทางเติบโตแต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจากผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม กรมฯยังมีแผนประชาสัมพันธ์ข้าวไทย โดยเข้าร่วมงานในประเทศต่างๆหลายงานด้วยกันเพื่อให้สินค้าเกษตรสำคัญของไทยเป็นที่รู้จักและมีความต้องการสูงขึ้น ดังนั้น กรมฯ มีแผนที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติระดับโลกอีก ได้แก่ งาน Foodex Japan 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งาน Canton Fair 2023 ณ เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน งาน The 20th China-ASEAN Expo (CAEXPO) ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน งาน Fine Food Australia 2023 ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย และงาน Beauty World Middle East 2023 ณ นครดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งหากดูสถิติการส่งออกข้าวเดือน ม.ค.66 มีมูลค่า 14,277.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 78.76% (เดือนมกราคม 2565 มีมูลค่า 7,986.78 ล้านบาท) ขณะการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง กรมฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง “เพิ่มขีดความสามารถการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนการค้าชายแดน หลังจากปัญหาโควิดเบาบางลง เร่งเปิดจุดผ่านแดนเปิดเพิ่ม ขณะนี้เปิดแล้ว 87 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง คาดว่าด้านที่เหลือคงจะเปิดกันได้ตามปกติเร็วๆนี้.-สำนักข่าวไทย