กรุงเทพฯ 17 ก.พ. – ธ.ไทยพาณิชย์ คาดจีดีพี ปี 2566 ที่ 3.2% ปรับองค์กรสู่ธนาคารดิจิทัลเต็มรูปแบบ เปิดตลาด Emerging Wealth เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ลั่นไม่จดทะเบียน Virtual Bank ตั้งเป้าสินเชื่อปี 66 โตไม่เกิน 5% สร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10%
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ธนาคารไทยพาณิชย์ยังเป็นผู้นำตลาดในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ และเป็น Top 3 ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อลูกค้ารายย่อย รวมทั้งยังเป็น Top 3 ธนาคารที่มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันทางเงินมากที่สุดในประเทศ โดย ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อรวมกันทั้งสิ้น 2.3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อบุคคล 9.8 แสนล้านบาท สินเชื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 4.1 แสนล้านบาท และธุรกิจขนาดใหญ่ 9.2 แสนล้านบาท สำหรับปี 2566 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ในการเป็น “Digital Bank with Human Touch เรารู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล รู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก” กำหนดยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นดาวเหนือนำทางธุรกิจภายใต้แผน 3 ปี คือการเป็น ดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง ซึ่งประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1) ปรับองค์กรเป็นธนาคารดิจิทัล มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลสำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม เชื่อมโยงข้อมูลทางด้านบริการเนื่องจากคนไทยเข้าถึงบริการทางการเงิน และมีความต้องการใช้บริการดิจิทัลเพิ่มขึ้น
2) เป็นเจ้าตลาดทางด้านบริหารความมั่งคั่ง ปัจจุบันมีจำนวนที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่ได้รับการรับรองจากสถาบันชั้นนำของเอเชียมากที่สุดในประเทศไทย ฐานลูกค้าปัจจุบันของธนาคารเป็นกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงระดับบน ธนาคารริเริ่มโครงการในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับลูกค้าในวงกว้าง (Digital Wealth) มุ่งไปที่กลุ่ม Emerging Wealth ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและต้องการสร้างความมั่งคั่งระยะแรกเริ่ม ที่มักวางแผนการลงทุนเองโดยไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ธนาคารจึงต้องการนำดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นตัวช่วยในการมอบทางเลือกทางการออมและการลงทุนที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล
3) ยกระดับประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง เชื่อมโยงระหว่างจุดให้บริการลูกค้าทั้งในโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริง รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจในปี 2566 ธนาคารมุ่งเน้นการสร้างสมดุลของการขยายพอร์ตสินเชื่อเพื่อการเติบโตยั่งยืน และให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจผันผวน โดยตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อไม่เกิน 5% และสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) มากกว่า 10% ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 40% อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจรตามแผน 3 ปี ในปี 2568 ธนาคารมีเป้าหมายจะลดอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ต่ำกว่า 40% รวมถึงการเป็นอันดับ 1 wealth wallet share พร้อมผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green Finance) เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาท ตามเจตนารมณ์ด้านความยั่งยืน (ESG)
นายกฤษณ์ ประเมินจีดีพีปี 2566 เติบโต 3.2% จากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัว ซึ่งภาคธนาคารจะต้องมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เท่าเทียม สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น มองว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดี ก็จะส่งผลบวกต่อธุรกิจธนาคาร ซึ่ง ธ.ไทยพาณิชย์ พร้อมยืนยัน ธ.ไทยพาณิชย์ ไม่มีนโยบายในการตั้ง Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา ที่ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก เนื่องจาก วิสัทยทัศน์มุ่งสูการเป้นดิจิทัลแบงก์อยู่แล้ว และยังไม่มีนโยบายลดจำนวนสาขาของธนาคาร แต่จะมุ่งพัฒนาเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้มากที่สุด.-สำนักข่าวไทย