กรุงเทพฯ 15 ก.พ.- การรถไฟฯ เคลียร์ชัด โครงการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค (UV-C) มูลค่ากว่า 96 ล้าน เปิดประมูลตามระเบียบทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส พร้อมยืนยันใช้งานได้ตามแผน เกิดความคุ้มค่า คำนึงถึงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ
ตามที่ปรากฏเป็นข่าว การรถไฟฯ ได้จัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค (UV-C) โดยวางทิ้งไว้ไม่นำมาใช้งานนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่มีข้อมูลไม่ถูกต้อง โดยภาพที่ปรากฏนั้นเป็นภาพของหุ่นยนต์ ฆ่าเชื้อ (UV-C) ถูกจัดเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเพื่อรอใช้งานตามวันที่กำหนดไว้ในแผนงาน ไม่ได้มีการวางทิ้งโดยไม่ได้ใช้งานแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฯ ยังมีการนำหุ่นยนต์ออกมาใช้งานฆ่าเชื้อโรคภายในขบวนรถโดยสาร และสถานีรถไฟอยู่เป็นประจำต่อเนื่อง โดยนำออกมาในช่วงเวลากลางคืน หรือเวลาที่ไม่มีประชาชนหรือผู้โดยสารอยู่ในพื้นที่แล้ว เพื่อให้เกิดความสะอาด ปลอดภัย และป้องกันไม่ให้รังสียูวีชี (UV-C) ที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษ กระทบต่อผู้โดยสารและประชาชนผู้ใช้บริการ
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ขอชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาในการดำเนินการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) โดยเริ่มต้นในปี 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงที่สถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก โดยขณะนั้น ยังคงมีประชาชนที่มีความจำเป็นในการเดินทางมาใช้บริการรถไฟ ประกอบกับมีผู้ปฏิบัติงาน ได้รับเชื้อและอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง จนส่งผลกระทบต่อการให้บริการแก่ผู้โดยสาร ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารรถไฟที่ใช้บริการบนขบวนรถและสถานี รวมทั้งดูแลผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟฯ ให้ลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
การรถไฟฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) ขึ้น โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) โดยใช้รังสีการฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C มีความสามารถในการทำลาย DNA และ RNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและเชื้อโรคต่างๆ ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส สปอร์ของเชื้อ ไวรัสโควิด-19 ได้ดี และมีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่อครั้งต่ำกว่าการฆ่าเชื้อโรคโดยวิธีฉีดพ่นสารเคมี และการเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ และไม่ทิ้งสารเคมีที่เป็นอันตรายไว้หลังการใช้งาน
จากนั้น การรถไฟฯ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) โดยดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เปิดให้มีการเสนอราคาทำการประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม ตามระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยมีการสอบราคาตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โปร่งใสครบถ้วน จนกระทั่งสามารถจัดหา หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อไวรัสด้วยรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยจำนวน 20 ตัว รวมวงเงิน 96.25 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในวงเงินดังกล่าว ไม่ใช่เป็นแค่มูลค่าเฉพาะหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคจำนวน 20 ตัวเท่านั้น แต่ยังได้รวมถึงการดูแลบำรุงรักษา การซ่อมแซม และรับประกันตลอด 2 ปีเต็ม และยังรวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยจัดการอบรมการใช้งานหุ่นยนต์ให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของการรถไฟฯ จำนวน 30 คน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถใช้งานหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อฯ ได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้นำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) นำมาใช้งานกับขบวนรถโดยสาร และตามสถานีต้นทาง/ปลายทางต่างๆ ดังนี้
- 1.สถานีกรุงเทพ จำนวน 4 ตัว
- 2.สถานีเชียงใหม่ จำนวน 2 ตัว
- 3.สถานีหนองคาย จำนวน 2 ตัว
- 4.สถานีอุบลราชธานี จำนวน 2 ตัว
- 5.สถานีชุมทางหาดใหญ่ จำนวน 2 ตัว
- 6.สำนักงานและพื้นที่ปฏิบัติงานของพนักงานการรถไฟฯ จำนวน 3 ตัว
- 7.สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 5 ตัว
ที่สำคัญผลดำเนินงานจากการจัดหาและนำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคมาใช้ปฏิบัติงาน ฆ่าเชื้อโรคภายในสถานี และบนขบวนรถโดยสาร ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงผู้โดยสารที่ใช้บริการอย่างชัดเจน ซึ่งจากสถิติตั้งแต่มีการนำหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อมาใช้งานเห็นได้ว่า จำนวนของผู้โดยสารที่เดินทางรถไฟในช่วงระยะเวลาดังกล่าวกว่า 17 ล้านคน ไม่มีผู้โดยสารที่ติดเชื้อโควิด-19 จากการเดินทางโดยรถไฟหรือมาใช้บริการที่สถานีเลยซึ่งถือเป็นความคุ้มค่าในการช่วยป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดในขณะนั้น และช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดความสูญเสียแก่พี่น้องประชาชน ตลอดจนทำให้รถไฟ ยังเป็นระบบขนส่งสาธารณะ ที่เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน สามารถเปิดให้บริการได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในช่วงเกิดวิกฤติดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯ ขอชี้แจงเพิ่มเติม เกี่ยวกับความคุ้มค่า และคุณสมบัติพิเศษของหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคดังกล่าวซึ่งถือเป็นหุ่นยนต์ที่มีสเป็ก และเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งการฆ่าเชื้อไวรัสด้วยรังสีอุลตร้าไวโอเล็ตชนิดเข้มข้น การประมวลผลการทำงานด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองผ่านระบบไวไฟ 5G อีกทั้งผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐานโดย CE และ TUV Rheinland (UVDR/Ultra Violet Disinfection Robot, AGV/Autonomous Guide Vehicle) และการทดสอบจากหลายหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
คุณสมบัติของ หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) เป็นเทคโนโลยีกำจัดแบคทีเรียโดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตชนิด C หรือที่เรียกว่า UV-C เป็นรังสีที่มีความยาวคลื่นระหว่าง 200 – 280 นาโนเมตร มีความสามารถในการทำลายDNA และ RNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและเชื้อโรคต่างๆ ทำให้แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อโรคชนิดต่างๆ ไม่สามารถขยายตัวต่อไปได้ มีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% ในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาที จึงมีข้อได้เปรียบกว่าการฆ่าเชื้อโรคโดยวิธีการฉีดพ่นสารเคมี และการเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งในแง่ของความสะดวกและระยะเวลาในการทำความสะอาดและที่สำคัญ สามารถฆ่าเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่อครั้งต่ำ และไม่ทิ้งสารเคมีที่เป็นอันตรายไว้หลังการใช้งาน อีกทั้งหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโดยใช้รังสียูวีซี (UV-C) ยังสามารถกำจัดหรือทำลายเชื้อโรคได้ทุกชนิด รวมถึงสปอร์ของเชื้อโรค ซึ่งเป็นการการฆ่าทำลายเชื้อโดยวิธีทางกายภาพ และมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ COVID-19 โดยใช้แสง UV ที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษ มีความเหมาะสมในการใช้งานเฉพาะพื้นที่ เช่นสถานีรถไฟ หรือ บนขบวนรถ รวมทั้งสถานที่อื่นๆ
-ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อโรค โดยมีการทดสอบ ด้วยการใช้เครื่องมือพิเศษหรือ ATK สำหรับการตรวจสอบนับปริมาณเชื้อโรคต่างๆ บนวัตถุของบริษัท 3 M ประเทศไทย ซึ่งมีการตรวจวัดปริมาณเชื้อโรคต่างๆ จากมือจับประตู ก่อนทดสอบการใช้หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ วัดค่าได้1,095 RLU ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมาก เชื้อโรคต่างๆสามารถติดไปกับผู้ที่ใช้มือสัมผัสมือเปิดประตูได้ง่ายมาก แต่หลังจากทดสอบใช้หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อเพียงไม่กี่วินาที ก็สามารถทำให้ปริมาณเชื้อโรคต่างๆบนบริเวณมือจับประตูลดลง ส่งผลทำให้ลดการแพร่เชื้อโรคต่างๆได้อย่างชัดเจน
– ผ่านการทดสอบ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ทดลองฉายรังสีอัลตราไวโอเลตเพื่อฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยที่ใช้งานแล้วพบว่า ฉายรังสีเป็นเวลา 30 นาที สามารถทำลายเชื้อ COVID-19 และเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในหน้ากากได้โดยไม่ทำให้เส้นใยหน้ากากอนามัยเสียหายจนเสียประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคและการทดสอบยังพบว่ารังสียูวีชี UV-C สามารถฆ่าเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ บนพื้นผิวทั่วไป และในน้ำได้เป็นอย่างดี
-การฆ่าเชื้อไม่มีกลิ่นและผลข้างเคียง ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานต่อผู้โดยสาร ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารรถไฟ ที่ใช้บริการบนขบวนรถและสถานี รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานการรถไฟจากความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเป็นมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าการโดยสารทาง รถไฟเป็นการเดินทางที่ปลอดภัย ปลอดเชื้อและมีมาตรฐานระดับโลก
การทดสอบทำงานด้วยคำสั่งทางไกลแบบอัตโนมัติ และขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง
-ผ่านการทดสอบ การสั่งการได้ทันที หรือสั่งการอัตโนมัติด้วยการกำหนดโปรแกรมไว้ล่วงหน้า ซึ่งควบคุมได้จากโทรศัพท์มือถือในระยะไกลจัดอยู่ในประเภท Autonomous Guide Vehicle (AGV) และสามารถเปลี่ยนชิ้นส่วนไปใช้สำหรับ Thermal scan หรือ Security Camera รวมถึงทดสอบความเร็วของระบบนำทาง (Navigation Speed) ทางตรง 2 เมตร/นาที ทางโค้ง 1 เมตร/นาที
-ผ่านการทดสอบการทำงานแบบ Simultaneous localization and mapping (SLAM) โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ด้วยทำการสร้างแผนที่เป็นแบบ 3 มิติ โดยรอบพื้นที่ ( Program based mapping ) ที่เหมาะสมก่อนก่อนเข้าดำเนินการตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้าหรือ ณ เวลาปัจจุบันก็ได้ และมี WIFI Router 5G ในตัว อีกทั้งยังมีระบบเซ็นเซอร์อินฟราเรด ควบคุมการทำงาน ได้แก่
- 1.มีระบบป้องกันมนุษย์ ( Human detection) หุ่นยนต์จะหยุดอัตโนมัติทันที เมื่อ Infra-Red เซ็นเซอร์ จับสัญญาณมนุษย์ได้ภายในรัศมี 5 เมตร
- 2.ระบบเซ็นเซอร์ป้องกันการชน (Anti-collision electric sensors) ด้วยระบบ Laser & Lidar ระบบ Ultrasonic และกล้องในตัว
- 3.กลไกป้องกันการชน (Mechanical anti-collision) สามารถป้องกันการชนได้ 360 องศา
- 4.สวิตช์หยุดฉุกเฉิน (Emergency stoppage)
– ผ่านการทดสอบจากหลายหน่วยงาน และนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยถือว่ามีความเหมาะสมต่อการใช้งานเนื่องจากมีระบบป้องกัน เมื่อมีวัตถุหรือคนเคลื่อนไหวเข้ามาในรัศมีที่กำหนด ระบบจะตัดการทำงานทันที เมื่อมีระยะห่างหรือในรัศมีที่ปลอดภัย ระบบจะทำงานต่ออัตโนมัติ จึงมีความปลอดภัยเมื่อนำไปใช้งานจริง
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความกระจ่างชัดเจน ในการจัดหาหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรคมาใช้งานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้อโรคต่างๆ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาติดตาม และประเมินผลการดำเนินการในด้านต่างๆ ของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อแสดงจุดยืนว่า การรถไฟฯ ได้ยึดมั่นความโปร่งใส ซื่อสัตย์ มีธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนผู้ใช้บริการ และประเทศชาติเป็นสำคัญ.-สำนักข่าวไทย